เที่ยวชัยภูมิต้องไม่พลาดที่นี่
ช่วงเวลาทุ่งดอกกระเจียวบาน คือฤดูกาลท่องเที่ยว "ชัยภูมิ" ว่ากันอย่างนั้น
- อุทยานป่าหินงามยามเช้า
- วัดพระธาตุชัยภูมิ สรวงสวรรค์ที่ไปถึงได้ สัมผัสกลิ่นไอของล้านนาในแดนอิสาน
- มอหินขาว สโตนเฮ้นท์สยาม ที่คุณจะต้องทึ่ง
จริงอยู่ที่ คนส่วนใหญ่มักมุ่งหน้าไปท่องเที่ยวชัยภูมิ ขึ้นอุทยานป่าหินงาม เพื่อดูดอกกระเจียวบาน แต่เมื่อใดที่ดอกไม้ไม่บานสะพรั่งทั้งทุ่ง ก็ออกจะผิดหวัง ชาวกรุงมักเดินทางไปดูดอกกระเจียว โดยออกจากกรุงเทพฯ ไปถึงอุทยานป่าหินงามเอาเวลาสายแล้ว แดดเริ่มแรง สายหมอกจางหาย เมื่อดอกไม้ไม่บานดังใจหวัง อะไรๆ ก็อาจจะเซ็งไปได้
เราจึงแนะนำว่า คุณควรไปเที่ยวจังหวัดรายทางเสียก่อน แล้วไปหาที่พักใกล้กับอุทยาน เพื่อจะได้ขึ้นชมตั้งแต่เช้าตรู่
ลองมาชมภาพที่นำเสนอต่อไปนี้ แม้ว่าดอกกระเจียวจะไม่บานเต็มที่ แต่การได้ไปเยือนอุทยานป่าหินงามยามเช้าก่อนพระอาทิตย์จะแผดจ้านั้น มีเสน่ห์ขนาดไหน เชื่อว่าคุณจะไม่อยากผละจากแนวผาและทิวป่ากันเลยทีเดียว ดอกกระเจียวยังเป็นรอง
ขอลงภาพตัวเองกับทิวทัศน์สุดวิเศษบ้าง |
เสน่ห์ของอุทยานแห่งชาติป่าหินงาน นอกจากทุ่งดอกกระเจียวแล้ว ก็คือทะเลหมอกที่ลอยอยู่เหนือยอดภู และหุบผา แม้กระทั่งรอบๆ ตัวเรา ทำให้อากาศยามเช้าเย็นฉ่ำและสดชื่นอย่างมาก แม้ไม่ใช่ฤดูหนาว
มีต้นไม้แปลกๆ พันธุ์โบราณอย่างต้นเหียง ที่ทำให้ดูเหมือนเดินอยู่ในป่าโลกล้านปี ต้นไม้ชนิดนี้โดนไฟป่าไม่ตาย กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้
และขึ้นชื่อว่า "อุทยานป่าหินงาม" ก็ย่อมต้องมีหินรูปร่างแปลกตา ให้ได้ชมกันอย่างแน่นอน
ต้นเหียง ไม้โบราณรูป่ร่างสวยแปลกตา ที่มีเฉพาะพื้นที่นี้ |
หนึ่งในหินรูปร่างแปลกตา ในลานหินงาม |
การเที่ยวชมอุทยานป่าหินงาม จะใช้วิธีนั่งรถรางของอุทยาน ไปแวะลงตามจุดต่างๆ เมื่อชมบริเวณนั้นทั่วแล้ว ก็มารอรถรางที่ป้ายจอด เพื่อต่อไปยังจุดหมายอื่น ค่าบริการเพียงท่านละ ๓๐ บาท
ใกล้ๆ จุดขึ้นรถราง ก็มีกาแฟสดขาย ช่วยเรียกความกระชุ่มกระชวยยามเช้าได้ดีทีเดียว
เมื่อนั่งรถรางไปชมจนทั่วทุกจุดแล้ว น่าจะใช้เวลาราว ๒ ชม. ก็ได้เวลาที่แม่ค้าพ่อค้าขายของที่ระลึกและพืชผักพื้นถิ่นมาเปิดร้านกันแล้ว ช่วยอุดหนุนชาวบ้านกันคนละอย่างสองอย่าง ได้ของสดดีราคาถูกค่ะ
อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เปิดตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น.- ๑๘.๐๐ น. เวลาที่เหมาะขึ้นชมมากที่สุดคือช่วงเช้า หากคุณมาพักที่รีสอร์ทในเขตอำเภอเทพสถิตย์ ก็จะใช้เวลาเดินทางจากที่พักขึ้นไปถึงอุทยานไม่เกิน ๓๐ นาที ที่พักบริเวณนี้มีอยู่หลายแห่ง ที่มีจำนวนห้องพักมากที่สุดก็คงเป็น เทพสถิตย์วิลล์
พระธาตุชัยภูมิ
สถานที่อีกแห่งที่ขอบอกว่า เมื่อท่านมาชัยภูมิจะพลาดเสียมิได้ วัดพระธาตุชัยภูมิ อรุณธรรมสถาน หรือ พระมหาธาตุเจดีย์สิริชัยภูมิ
วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาช่องลม บ้านภูสองชั้น ในอำเภอแก้งคร้อ มีพื้นที่กว่า ๒๐๐ ไร่ อยู่ห่างจากอุทยานป่าหินงามชั่วขับรถราว ๒ ชม. ครึ่ง ทำเลที่ตั้งของวัดมีลักษณะเป็นเนินเขา ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ ถนนหนทางที่มุ่งสู่วัดพระธาตุชัยภูมิค่อนข้างเล็ก แต่ก็สวนกันได้ และอยู่ในสภาพดีพอใช้ ในฤดูฝนที่ผู้คนมาเที่ยวทุ่งดอกกระเจียว เมื่อเดินทางมาที่นี่ก็จะเห็นความเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้าตลอดสองข้างทาง ถนนลาดขึ้นลงตามลักษณะของภูเขา รับรองท่านจะเพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์สองข้างทางจนไม่นึกถึงเวลาที่ผ่านไปเลยสักนิด รีสอร์ทเล็กๆ ผุดขึ้นมากมาย สลับกับร้านอาหารและร้านกาแฟอิงธรรมชาติ น่านั่งเล่นเป็นที่สุด
ก่อนถึงทางเข้าวัด มีสภาพเหมือนป่า ต้นไม้รกทึบมากขึ้น ประตูทางเข้าวัดเล็ก แต่เมื่อเข้าไปถึงลานจอด (ที่กำลังปรับปรุง) กลับใหญ่โตจุรถได้เป็นร้อยคันทีเดียว
ใกล้ๆ ลานจอดรถทางด้านหลัง มองเห็นอาคารปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของวัดนี้ด้วย โดย พระธรรมสิริชัย เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๑๓ ท่านเป็นผู้เริ่มต้นก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ นับเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่มีบรรยากาศเงียบสงบ ท่ามกลางธรรมชาติ สัปปายะ อย่างยิ่ง
เมื่อลงจากรถแล้ว เราก็มุ่งหน้าเดินเข้าสู่เขตพุทธสถาน ซึ่งต้องออกแรงเดินขึ้นเนิน เพราะเจดีย์พระมหาธาตุตั้งอยู่บนที่สูง ก่อนขึ้นบันไดนาคไปสู่ลานพระเจดีย์ ก็แวะเคารพอนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล หรือที่ชาวชัยภูมิ เรียกขานท่านว่า "เจ้าพ่อพญาแล" เสียก่อน
รูปปั้นเจ้าพ่อพญาแล ภายในวัดพระธาตุชัยภูมิ |
ขอแนะนำประวัติของเจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก กันสักนิด
เดิมท่านเป็นคนฝากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เคยรับราชการในราชสำนักของเจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทร์ ต่อมาได้ลาออก แล้วอพยพพาครอบครัวและบ่าวไพร่มาปักหลักอยู่ในดินแดนฝั่งไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๒ แต่ยังภักดีกับเวียงจันทร์ เจ้าอนุวงศ์จึงตั้งท่านเป็นขุนภักดีชุมพล ภายหลังเวียงจันทร์ตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม พญาแลจึงได้หันมาภักดีกับสยาม ในพ.ศ.๒๓๖๕ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้โปรดเกล้ายกบ้านหลวง ชุมชนที่ขุนภักดีชุมพลดูแลอยู่ ขึ้นเป็นเมืองพระราชทานนามว่าชัยภูมิ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้ท่านเป็นพระยาภักดีชุมพล เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก ด้วยเหตุนี้เมืองชัยภูมิตั้งแต่ครั้งเจ้าพ่อพญาแล มาผู้คนมาตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่เป็นเมือง ก็มีอายุกว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว
ใน พ.ศ.๒๓๖๙ เมื่อเกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ยกเข้ามายึดเมืองโคราช พญาแลท่านได้นำทัพไปช่วยคุณหญิงโมปกป้องเมืองโคราชด้วย จนทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่าย สร้างความโกรธแค้นให้แก่เจ้าอนุวงศ์ จึงย้อนกลับมาจับตัวพระยาภักดีชุมพล ประหารชีวิต ณ บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ ริมหนองปลาเฒ่า แต่พระยาภักดีชุมพล เป็นผู้มีวิชาอาคม ทำให้คมมีดคมดาบไม่สามารถทำร้ายท่านได้ สุดท้ายเจ้าอนุวงศ์จึงสั่งให้ใช้เหล็กแหมเสียบเข้าทางทวารหนัก จนท่านถึงแก่ความตาย ... วีรกรรมของท่านได้รับการจารึกตลอดมา มีการสร้างอนุสาวรีย์ให้แก่ท่าน ณ จุดที่ท่านเสียชีวิต และมีการจัดงานสักการะเป็นประจำทุกปี ในวันพุธแรกของเดือน ๖ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน เรียกว่า "งานบุญเดือนหก สักการะเจ้าพ่อพญาแล"
หลังจากเคารพอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล้ว ก็หมายตาว่า จะขึ้นไปกราบพระบรมสารีริกธาตุแล้วกลับลงมา เลือกชมวัตถุมงคลในอาคารเรือนไม้ที่อยู่ใกล้ๆ กันนั้น
ส่วนด้านหลังของอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล เป็นทางเดินลดระดับลงไป สู่ศาลาเอนกประสงค์ และห้องสุขา ซึ่งแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ ที่ได้รับการตกแต่งดูแลอย่างเป็นระเบียบ สลับกับบริเวณที่ตกแต่งด้วยภาพสลักหิน เรียกว่าแวะถ่ายรูปสวยได้ทุกมุม และเมื่อมองไปไกลๆ ก็เป็นทิวทัศน์ของป่าเขาเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา
ได้เวลาขึ้นสู่ไฮไลท์สำคัญ ... เดินขึ้นบันไดนาค สู่ลานพระมหาธาตุเจดีย์
บันไดนาค เปรียบเสมือนทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์
เมื่อเดินขึ้นไปถึงลานพระมหาธาตุ ก็ให้ความรู้สึกเหมือนขึ้นมาสู่สรวงสวรรค์จริงๆ
พระมหาธาตุสีขาวบริสุทธิ์ มองดูแปลกตา จะเป็นอิสานก็ไม่ซะทีเดียว จะเป็นแบบเมืองเหนือก็ไม่เชิง เพราะสร้างด้วยศิลปะผสมล้านนาและล้านช้าง ด้านหน้าพระเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้า ๕ พระองค์ ด้านหลังมีวิหารคตทรงครึ่งวงกลม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ หลายองค์มีลักษณะแปลกตา ตุงหรือธงแบบทางเหนือประดับอยู่รอบๆ ผสมผสานกับอุบะที่ใช้ด้ายถักทอรอบโครงไม้ ทำให้ยิ่งดูเป็นล้านนามากยิ่งขึ้น
สำหรับองค์พระเจดีย์มีความสูง ๒๑ เมตร มีซุ้มจรนัม ๔ ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ยอดพระเจดีย์หุ้มด้วยแผ่นทองจังโก้และปิดด้วยทองคำเปลวแบบล้านนา ปลายสุดประดับด้วยอัญมณี ภายในพระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในผอบแก้ว สามารถมองเห็นได้
เจดีย์ศิลปะล้านช้างผสมล้านนา ด้านหน้าเป็นหอพระอุปคุต |
พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระเจดีย์ |
เมื่อเวียนประทักษิณและสักการะพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว ก็เดินชม ถ่ายภาพในมุมต่างๆ เพลิดเพลินจนลืมเวลา เพราะนอกจากจะสวยงามอย่างมากแล้ว ตลอดเวลายังมีเสียงดนตรีพื้นเมืองเปิดคลอไปเบาๆ เคล้ากับเสียงสายลมที่พัดมาอ่อนๆ เดินทอดน่องต่อไปทางด้านหลังองค์พระเจดีย์ เป็นลานโล่งที่ออกไปชมวิวทิวทัศน์ได้สุดลูกหูลูกตา
ลานด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรุปยืน และเป็นจุดชมวิวขุนเขาสุดลูกหูลูกตา |
ตุงหลากสีสัน สลับกับอุบะ ปลิวไสวตามแรงลม ทางทางเดินรอบวิหารคต |
เผลอแพล็บหมดเวลาไปเป็นชั่วโมง ได้เวลาต้องไปที่อื่นต่อ ตลอดทางเดินกลับก็สวยงามจนต้องแวะถ่ายรูปกันไปเสียทุกจุด เมื่อยก็มาแวะนั่งจิบเครื่องดื่ม กินขนม เล็กๆ น้อยๆ ที่ร้านกาแฟเก๋ไก๋ สไตล์ให้อินกับธรรมชาติ ที่มีบริการในบริเวณวัดสักหน่อยก็ไม่เลว
ขอบอกว่า นักท่องเที่ยวที่มาล้วนแต่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ได้มาที่นี่ถือว่าคุ้มแลัวทริปนี้"
มอหินขาว
มอหินขาว ประติมากรรมธรรมชาติ ที่ได้รับสมญาว่า สโตนเฮ้นจ์สยาม
เนื่องจากภาพของหน่อโพธิ์ ได้จากตอนไปออกทัวร์ มีแต่นักท่องเที่ยวอยู่ซะทุกจุด เลยต้องขอยืมภาพนี้จาก scb.co.th มาให้เห็นความงามกันชัดๆ |
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น