ถอดความนัยจากนิยายสู่ประวัติศาสตร์ "สุริยวรรมัน"

“สุริยวรรมัน” คือชื่อนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เขมร

ผลงานชิ้นเอกอีกเรื่องหนึ่งของศิลปินแห่งชาติ ทมยันตี

เรื่องราวของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในภาพจินตนาการที่แสนโรแมนติก
นิยายเรื่องนี้เป็นเสมือนภาพจินตนาการของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในมุมที่แสนจะโรแมนติก

หากใครที่ได้อ่าน สุริยวรรมัน แต่ยังไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เขมร นอกจากจะซาบซึ้ง ไหลหลง ไปกับเจ้าชายรูปงาม ที่ทรงพระปรีชาและคุณธรรม และตื่นเต้นกับกลยุทธ์การสงครามในท้องเรื่องแล้ว ก็คงจะมีความสงสัยใคร่รู้อยู่ตลอดเวลาที่อ่านว่า เรื่องจริงเป็นอย่างไร? เจ้าชายพระองค์นี้ มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่? และทำไมเวียงวังจึงมาอยู่ที่ใกล้ปราสาทเขาพนมรุ้ง ในเขตแดนไทยนี่เอง ทำไมไม่อยู่ที่ปราสาททั้งหลายในดินแดนเขมรเล่า?

สุริยวรรมัน กล่าวถึง เจ้าชายหนุ่ม พระนามว่า พิษณุหริเกศวร แห่งราชวงศ์มหิธรปุระ ทรงพำนักอยู่ ณ เมืองที่มีชื่อเดียวกัน อยู่ห่างไกลจากเมืองพระนคร ศูนย์กลางของราชอาณาจักรแห่งชนเขมร ไปทางตอนเหนือ มีทิวพนมดงเร็กเป็นฉากกั้นให้อยู่กันคนละฝากฝั่ง เหตุก็เพราะความขัดแย้งแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างเครือญาติ ผู้ที่เหนือกว่าก็ได้อำนาจครอบครองมืองพระนคร ผู้ที่อำนาจด้อยกว่าก็ต้องหลบลี้ทำตัวเงียบสงบอยู่ ณ ที่ห่างไกล แต่ก็ใช่จะสยบอยู่เช่นนี้ตลอดไป  ในที่สุดเจ้าชายหนุ่มภายใต้การอบรมสั่งสอนของศทาศิวะทิวากรบัณฑิต พราหมณาจารย์ของราชวงศ์ และพระราชบิดาผู้ทรงบำเพ็ญพรตเป็นวานปรัสถ์ที่เสมือนหันหลังให้กับทางโลก แต่ทว่าปรีชาแห่งกษัตริย์ก็ยังไม่มอดสลาย ... เจ้าชายหนุ่มเติบใหญ่ และเข้าสู่สงคราม นำราชวงศ์มหิธรปุระ กลับคืนสู่ราชบัลลังก์แห่งเมืองพระนคร และทรงสร้างสิ่งที่โลกต้องจดจำไว้ตลอดกาล “องฺครวัด” หรือนครวัด นั่นเอง

ดังนั้น เจ้าชายพระองค์นี้ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ มหาราช อีกองค์หนึ่งของอาณาจักรเขมร (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๖๕๖-๑๖๙๓)

นิยายสร้างปมของเรื่องให้แน่นเข้า ด้วยธรรมเนียมที่ว่า มเหสีเอกของกษัตริย์หรือในเรื่องเรียกตำแหน่งนี้ว่า “กัมพูชาลักษมี” ต้องเป็นธิดาจากหัวหน้าเผ่าภวาลัย เท่านั้น เผ่านี้มีอำนาจค้ำจุนราชบัลลังก์ ทำให้แม้แต่ขุนนางระดับสูง รวมถึงพราหมณาจารย์ ยังต้องสมรสกับหญิงชั้นสูงจากเผ่านี้ เพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ เผ่านี้มีที่ตั้งอยู่ใกล้เขาพระวิหาร มีหน้าที่ปกปักษ์รักษาศรีขิเรศวรโดยกลายๆ ใครจะจาริกขึ้นสักการะปราสาทแห่งศิวะเทพ ย่อมต้องผ่านและได้รับอนุญาตจากเผ่านี้อย่างเลี่ยงไมได้ บนยอดเขาพระวิหารนี้เอง เป็นจุดยุทธศาสตร์ของเรื่อง เจ้าชายและว่าที่กัมพูชาลักษมี คู่หมั้นหมายของพระองค์จากเผ่าภวาลัย ได้ใช้เป็นช่องทางการเข้าถึงเมืองพระนครได้อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

            การดำเนินเรื่อง ได้สอดแทรกแนวคิดแห่งปรัชญาพราหมณ์และพุทธ เคล้าไปกับความเข้มข้นของกลยุทธ์ด้านการสงคราม ทั้งสนุก ตื่นเต้น พร้อมๆ ไปกับความเอมอิ่มในตรรกะทางปรัชญา และเรื่องราวเกร็ดทางประวัติศาสตร์ ทำให้น่าติดตามและค้นคว้าเพิ่มเติม  ตอนท้ายของเรื่องกล่าวถึง การสร้างปราสาทนครวัด และความสำคัญของธารศักดิ์สิทธิ์บนมเหนทรบรรพต ที่กัมพูชาลักษมีสละชีพของพระนางไว้ที่นั่น และนี่ก็คงเป็นเหตุแห่งปริศนาที่ทมยันตี ตีความไว้ในนิยายของท่านว่า เหตุใดกษัตริย์ผู้สร้างนครวัดอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร จึงไม่มีรัชทายาทสืบทอด เช่นเดียวกับมหาราชสุริยวรมันที่ ๒ ที่ไม่มีหลักฐานใดระบุถึงพระราชโอรสของพระองค์เลย

นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึง สถานที่สำคัญ ๖ แห่ง ที่อยู่ร่วมสมัยกัน ได้แก่  มหิธรปุระ, ยโศธรปุระ, ปราสาทเขาพนมรุ้ง, ปราสาทเขาพระวิหาร, มเหนทรบรรพต สถานที่ศักดิ์สิทธิแห่งเทวราชา, และนครวัด สถานที่ประทับตลอดกาลของสุริยวรมันที่ ๒ แต่ละแห่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร และมีความสำคัญในประวัติศาสตร์เช่นไรบ้าง จะได้นำมาเล่าเป็นลำดับไป

แต่ก่อนอื่น น่าจะได้ทำความเข้าใจกันก่อนว่า เรื่องราวในนิยายกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์นั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร พบกันในตอนที่ ๒

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สุริยวรรมัน : เรื่องจริงเป็นอย่างไร

อินเดียที่หนึ่งในดวงใจ

เที่ยวชัยภูมิต้องไม่พลาดที่นี่

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ : เคล็ดวิชาสร้างอาณาจักรเขมร (๑)