ศาสนาในอาณาจักรเขมรโบราณ
เขมรโบราณนับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธควบคู่กัน
ในราชอาณาจักรมหิธรปุระรวมถึงในอาณาจักรเขมรทั่วไป แต่เดิมนับถือไศวนิกายเป็นหลัก (นับถือพระศิวะหรือมักจะเรียกกันว่า พระอิศวร เป็นใหญ่กว่าเทพองค์อื่น) แต่ก็นับถือเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ครบทั้ง ๓ ด้วย ได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม ส่วนศาสนาพุทธก็มีอยู่เช่นกัน เป็นพุทธแบบมหายาน แต่ก็ไม่แพร่หลายนักเมื่อเทียบกับพราหมณ์-ฮินดู
๑. ปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวสถานของไศวนิกาย มองเห็นศิวลึงก์ประดิษฐานในครรภคฤหะ มีท่อโสมสูตรรับน้ำมนต์มาจากภายใน |
๒. ศิวลึงก์ในครรภคฤหะ ปราสาทพนมรุ้ง |
ศาสนาพุทธคงเข้ามาสู่เขมรทั้งจากอินเดียโดยตรงที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาและค้าขาย
และผ่านทางอาณาจักรทวาราวดีที่ตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย มีหลักฐานว่าพระเจ้ายโศวรมัน
(พ.ศ. ๑๔๓๒-๑๔๕๕) ผู้สถาปนาเมืองพระนคร เคยทรงสร้างวัดทางพระพุทธศาสนาด้วย
แต่ว่าศาสนาพุทธก็ได้เสื่อมลง นักโบราณคดีพบจารึกว่าด้วยการบูรณะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ในพศต.ที่
๑๖ ซึ่งก็ตรงกับช่วงของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ เช่น
- ในจารึกศาลสูงหลักที่ ๑ จังหวัดลพบุรี ระบุถึงพระราชโองการของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ให้ดาบส ภิกษุในพุทธศาสนามหายานและเถรวาท ถวายตบะแก่พระองค์
- ศิลาจารึกพบที่ปราสาทหินพิมายระบุศักราช พ.ศ.๑๕๗๙ และ ๑๕๘๙ มีข้อความสรรเสริญพระพุทธเจ้าและพระราชานาม “ศรีสุรยะวรมะ” ผู้ทรงนับถือพุทธศาสนา ซึ่งคาดกันว่าหมายถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ คงเพราะเหตุนี้ บางกระแสจึงว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ทรงนับถือพุทธ เพราะพระนามของพระองค์หลังสวรรคตคือ นิวาณบท แต่ก็อาจไม่ใช่ เพราะคำว่า นิรวาณ มีใช้ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาตั้งแต่โบราณกาล หมายถึงเป้าหมายสูงสุดเช่นกัน
- ส่วนอีกหลักฐานหนึ่ง คือ ที่กรอบประตูระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทพิมายระบุศักราช พ.ศ.๑๖๕๑-๑๖๕๕ (ตรงกับสมัยพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ แห่งราชวงศ์มหิธรปุระ) กล่าวถึงการสถาปนารูปเคารพในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน จึงเป็นที่ชัดเจนว่าปราสาทพิมายเป็นพุทธสถาน แสดงถึงศาสนาพุทธมีอยู่ในอาณาจักรเขมรโบราณควบคู่กันกับศาสนาพราหมณ์
ศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีแนวคิดและปรัชญาที่ไปด้วยกันได้
โดยเฉพาะในขั้นพื้นฐาน จึงทำให้ความเชื่อและหลักธรรมคำสอนของทั้งสองศาสนามีบทบาทร่วมกันในระดับราชวงศ์ได้
ดังนั้นการที่กษัตริย์เขมรจะนับถือทั้งพุทธและพราหมณ์
หรือนับถือศาสนาหนึ่งและให้การอุปถัมภ์อีกศาสนาหนึ่งด้วย เช่นเดียวกับกษัตริย์ในอินเดียโบราณหลายพระองค์และกษัตริย์ไทยด้วยก็ทรงดำเนินเช่นนี้
(ยกเว้นว่ากษัตริย์นั้นจะเป็นมิจฉาทิฎฐิ ทำลายศาสนาอื่น
ซึ่งไม่เคยมีปรากฏว่ากษัตริย์พุทธมามกะกระทำเช่นนั้น) ดังนั้น
หากพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ จะทรงเคารพในองค์ศิวะเทพ
ผู้เป็นใหญ่สูงสุดของชนเขมรในเวลานั้น ทรงสร้างปราสาทเขาพระวิหารบูชาพระศิวะเจ้า พร้อมกับสร้างปราสาทหินพิมายถวายพระพุทธเจ้า ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก
และปราสาทหินพิมายนี้ ก็มีภาพสลักทั้งส่วนที่บูชาพระพุทธเจ้าและภาพสลักบูชาเทพเจ้าพรามหณ์-ฮินดูอยู่ด้วย
การจะดูว่าศาสนสถานใดเป็นของศาสนาใด ให้ดูที่ครรภคฤหะอันเป็นห้องในสุด สำคัญที่สุด เสมือนอุทรที่อยู่ของดวงวิญญาณแห่งสถานที่นั้น หากสิ่งที่ประดิษฐานในครรภคฤหะเป็นพระพุทธรูป ก็หมายถึงสถานที่นั้นเป็นพุทธสถาน แต่หากประดิษฐานศิวลึงก์หรือภาพเทพเจ้า ก็หมายถึงเป็นศาสนสถานของพราหมณ์ ในขณะที่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของศาสนสถานนั้น โดยเฉพาะพุทธสถาน สามารถพบภาพสลักเทพเจ้าในศาสนาอื่นอยู่ด้วย เช่นที่ปราสาทหินพิมาย มีภาพสลักเรื่องรามยณะอยู่ที่ชั้นนอก ส่วนชั้นในที่ติดกับครรภคฤหะเป็นภาพสลักพุทธประวัติ เพราะเรื่องราวของรามยณะ หรือความเชื่อในเทพเจ้าพราหมณ์นั้น ปะปนกับความเชื่อพื้นถิ่น กลายเป็นความเชื่อของคนในท้องที่นั้น กลมกลืนจนไม่แบ่งแยกว่าเป็นเรื่องของศาสนาหรือตำนานความเชื่อ
๓. ภาพสลักพุทธประวัติด้านทิศใต้ ปราสาทพิมาย (ขยายจากภาพด้านล่าง) |
๔. ภาพพุทธประวัติด้านทิศตะวันตก ปราสาทพิมาย |
๕. ครรภคฤหะในปราสาทหินพิมาย ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก แสดงว่าเป็นพุทธสถาน หน้าบันด้านบนเป็นภาพพุทธประวัติ ขยายในภาพที่ ๓ (รูปครั้งผู้เขียนฟังบรรยายจาก ศ.ดร.มรว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์) |
ปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นราวปลายพศต. ๑๖ และคงได้เป็นศาสนสถานสำคัญที่ราชวงศ์มหิธรปุระให้ความอุปถัมภ์มาแต่เดิม ดังจะเห็นได้จาก พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๑) ที่ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ของมหิธรปุระ เมื่อทรงพระราชอำนาจเหนืออาณาจักรทั้งหมดแล้ว ได้ทรงบูรณะปราสาทหินพิมายและสร้างธรรมศาลาพร้อมทั้งอโรคยาศาลา ตามเส้นทางจากเมืองพระนครมายังพิมายถึง ๑๗ แห่ง (โปรดติดตามเรื่องพระเจ้าชัยวรมัน : ศาสตร์เร้นลับในการสร้างเมืองพระนคร)
มหาราชอีกพระองค์หนึ่งของราชวงศ์มหิธรปุระ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ชัดเจนว่า ทรงเป็นเทวราชา
ในฐานะอณูหรืออวตารแห่งวิษณุเทพ ทรงสร้างนครวัด ถวายแด่พระวิษณุ นักวิชาการวิเคราะห์ว่าคงเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดปรัชญาทางอินเดียเริ่มเปลี่ยน
ลัทธิไวษณพนิกายเฟื่องฟู การนับถือพระวิษณุและอวตารของพระองค์มีมากขึ้น
เป็นใหญ่ขึ้น แนวคิดนี้น่าจะได้มาสู่เขมรในเวลานั้น
การจะดูว่ากษัตริย์เขมรองค์ใดนับถือศาสนา นิกายใด เป็นสำคัญ
ให้ดูจากพระนามเมื่อสวรรคตแล้ว เช่น พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็น มหาบรมเสาคต
(ผู้เป็นไปตามพระสุคต-พุทธ), พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๖๕๖-๑๖๙๓) เป็น
บรมวิษณุโลก (ไวษณพ). พระเจ้าหรรษวรมันที่ ๓ (พ.ศ.๑๖๐๙-๑๖๒๓) เป็น ศทาศิวบท (ไศวะ), พระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (พ.ศ.๑๕๑๑-๑๕๔๔) เป็น พระบาทบรมวีรโลก
(ไศวะ), พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ (พ.ศ.๑๔๗๑-๑๔๘๔) เป็น พระบรมศิวบท (ไศวะ) เป็นต้น
ทำไมกษัตริย์จึงต้องเป็นเทวราชา?
ติดตาม >> เทวราชาในอาณาจักรเขมร
อ่านแล้วได้ความรู้ ดีจัง
ตอบลบ