เทวราชา

เทวราชา คือ เทพผู้เป็นใหญ่ในร่างของพระราชา 

ความเชื่อในเทพฮินดู เอเชียอาคเนย์รับมาจากอินเดียก็จริง แต่น่าแปลกที่เทวราชากลับไม่มีในอินเดีย กษัตริย์ในอินเดียทั่วไปคือนักรบจัดอยู๋ในวรรณะกษัตริย์ มีบ้างที่เป็นอวตารของเทพ เช่น พระกฤษณะ พระราม ที่เป็นอวตารของพระวิษณุ แต่โดยทั่วไปไม่ใช่ และไม่ได้รับการนับถือเป็นเทวราชา การอวตารของเทพอาจมาได้ทั้งในรูปมนุษย์และอมนุษย์ การอวตารในคติของอินเดียเป็นการลงมาทำหน้าที่หนึ่งๆ ของเทพให้สำเร็จลุล่วง แล้วก็จากไป แต่เทวราชาเป็นความเชื่อว่า กษัตริย์ทุกพระองค์ที่เสวยราชย์คืออณูหนึ่งของเทพ เมื่อสวรรคตแล้วก็กลับไปอยู่ในฐานะเทพ

พิธีเทวราชาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒
ภาพจำลองพราหมณ์ทำพิธีสถาปนาเทวราชา เขียนโดย Maurice Fievet จาก www.devata.org

การทำพิธีสถาปนาเทวราชา เป็นการผสมผสานพิธีอินทราภิเษกเข้ากับราชาภิเษก

"อินทราภิเษก" ชื่อก็บอกชัดอยู่แล้ว คือ การทำพิธีอัญเชิญหรืออภิเษกให้พระอินทร์ขึ้นเป็นหัวหน้าเหล่าเทพ       
พระอินทร์เป็นเทพดั้งเดิมในคติของอินเดียเผ่าอารยันหรือพราหมณ์ในยุคต้น มีความสำคัญเป็นหัวหน้าเหล่าเทพทั้งมวล คติความเชื่อนี้ได้แพร่เข้ามาสู่อุษาคเนย์และมีบทบาทอย่างสูงในวัฒนธรรมเขมรและชาวอุษาคเนย์ทั้งหมด  จะเห็นได้ว่าเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ผู้ทรงสถาปนาลัทธิเทวราชา มีชื่อเกี่ยวข้องกับพระอินทร์ถึง ๓ แห่ง ได้แก่ อินทรปุระ อมรินทรปุร และ มเหนทรบรรพต
       
พิธีอินทราภิเษกนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งไทยรับมาจากเขมรและถือปฏิบัติอยู่ในสมัยอยุธยาด้วย (ดูเพิ่ม คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)
     
ส่วน "ราชาภิเษก"  คือพิธีการแต่งตั้งบุคคลขึ้นเป็นราชาปกครองหมู่ชน
     
การทำพิธีสถาปนาเทวราชย์ จึงเป็นการยกบุคคลให้เป็นทั้งอินทรเทพและราชาเหนือหมู่ชน หรืออาจหมายถึงการเป็นราชาที่มีเทพปกป้องคุ้มครองก็เป็นได้ และเมื่อกษัตริย์เป็นเทพด้วย คำพูดที่ใช้กับเทพก็ต้องแตกต่างจากคนธรรมดา นี่คือที่มาของการใช้ราชาศัพท์
   
อนึ่ง คำว่า อภิเษก หมายถึง การให้พรหรือแต่งตั้งโดยการรดน้ำ ดังนั้นเราจึงเห็น พิธีบรมราชาภิเษก มีน้ำเป็นสื่อกลางที่สำคัญ


ภาพจำลองพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ประทับบนเมหนทรบรรพต ทรงทัศนาเมือง เขียนโดย Maurice Fievet จาก www.devata.org

ลัทธิเทวราชานี้ได้รับการวิวัฒนาการทางความเชื่อขึ้นในชวาแล้วส่งต่อมายังเขมร และไทย ตามลำดับ

ในเขมรนั้น กษัตริย์พระองค์แรกที่สถาปนาลัทธินี้ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (ครองพ.ศ. ๑๓๑๓-๑๓๗๘) เป็นเจ้าชายเขมรที่ถูกนำไปอยู่ที่จาวกะ (ชวา) ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ (ช่วงนั้นชวามีอำนาจเหนือดินแดนเขมร) ในเวลานั้นชวาคงมีลัทธินี้อยู่แล้ว เมื่อพระองค์เสด็จกลับเขมรก็ทรงรวบรวมอาณาจักรที่แตกแยกเป็นเจนละบกและเจนละน้ำในเวลานั้น ให้เป็นปึกแผ่น ทรงสร้างเมืองหริหราลัย และประดิษฐานลัทธิเทวราชาขึ้น การสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นเทวราชานี้ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็เพื่อประกาศความเป็นจักรพรรดิราช หมายถึงเขมรไม่ขึ้นกับชวาอีกต่อไป

             พระองค์ทรงเลือกเหนทรบรรพต (ปัจจุบันคือเขาพนมกุเลน) เป็นสถานที่ทำพิธี ในสมัยของพระองค์มีราชครูพราหมณ์ที่ไว้วางพระราชหฤทัยนามว่า ศิวะไกวัลย์ แต่พราหมณ์ท่านนี้ไม่ได้มีความรู้ในการทำพิธีไสยเวทย์พอที่จะทำพิธีสถาปนาเทวราชาได้ พระองค์จึงให้เชิญพราหมณ์หิรัณยทามะ (จารึกว่าอยู่ในชนบท) ซึ่งเป็นผู้รู้ มาถ่ายทอดการทำพิธีให้แก่พราหมณ์ศิวะไกวัลย์ เมื่อพราหมณ์ศิวะไกวัลย์ร่ำเรียนครบถ้วนแล้ว ก็โปรดให้เป็นผู้ทำพิธีสถาปนาเทวราชา เพื่อให้พระองค์เป็นทั้งกษัตริย์และอวตารแห่งเทพในเวลาเดียวกัน และมีพระบัญชาว่า ต่อไปผู้ที่จะทำหน้าที่สวมมงกุฏให้แก่กษัตริย์ในพิธีบรมราชาภิเษกได้ ต้องเป็นพราหมณ์ที่สืบสายตระกูลจากพราหมณ์ศิวะไกวัลย์เท่านั้น  นับแต่นั้นลัทธิเทวราชาก็สืบต่อมาในอาณาจักรเขมร และมั่นคงอยู่ได้เกือบ ๔๐๐ ปี

มเหนทรบรรพต มีความหมายตรงตัวว่า ขุนเขาที่ประทับของพระอินทร์ ดังนั้นที่จุดศูนย์กลางเมืองจึงมีรูปปั้นของช้างพาหนะของพระอินทร์ อยู่ด้วย ชื่อเมืองต่างๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงสร้างเป็นเมืองหลวงทั้ง ๔ แห่ง ล้วนมีความหมายว่าเป็นเมืองของเทพทั้งสิ้น แห่งแรกคือ อินทรปุระ ต่อมาทรงย้ายไปสร้างหริหราลัย (หริ หมายถึงพระวิษณุ, หระ หมายถึงพระศิวะ), แห่งที่สามคือ อมรินทรปุระ และ แห่งที่สี่ได้แก่ มเหนทรบรรพต ก่อนที่พระองค์จะทรงย้ายกลับไปประทับที่หิรหราลัยในช่วงท้ายของพระชนม์ชีพ

เมืองโบราณมเหนทรบรรพต
สภาพเมืองโบราณมเหนทรบรรพต (ภาพ : David จาก Flickr.com)

การไปเที่ยวชมเมืองโบราณบนมเหนทรบรรพต ในปัจจุบันยังถือว่าลำบากอยู่มาก ไม่เหมาะกับนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่หากขึ้นไปเพียงที่น้ำตกและธารน้ำศิวลึงก์พันองค์ สามารถไปได้ไม่ยาก ศิวลึงก์เล็กใหญ่และภาพองค์เทพที่สลักไว้ตามธารน้ำนั้น กษัตริย์เขมรนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เป็นต้นมา ได้ทรงสร้างกันต่อๆ มา เพื่อให้มเหนทรบรรพตเป็นที่สถิตย์แห่งเทพ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งเทวราชาอย่างแท้จริง น้ำที่ไหลจากธารศักดิ์สิทธิ์นี้จะลงไปรวมกับแม่น้ำเสียมเรียบ หล่อเลี้ยงเมืองพระนคร ทำให้แม่น้ำเสียมเเรียบกลายเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชนชาวเขมรคล้ายกับแม่น้ำคงคาของชาวอินเดีย

หินใต้ธารน้ำบนมเหนทรบรรพต สลักเป็นภาพพระวิษณุและพระแม่ลักษมี
(ภาพ : wrd39 จาก flickr.com)

ธารน้ำศักดิ์สิทธิ์จากมเหนทรบรรพต
ศิวลึงค์องค์เล็กองค์ใหญ่มากมายใต้ธารน้ำบนเขาพนมกุเลน


ทำไมกษัตริย์จึงต้องเป็นเทวราชา?

 การปกครองด้วยอำนาจ กองทัพ ศาสตราวุธ และสงคราม สมารถสร้างความยำเยงให้กับกษัตริย์และกองทัพด้วยกันได้ แต่ก็ใช่จะมีผลต่อประชาชนทั่วไป พวกเขาทำมาหากินมิได้สนใจในสงคราม กับรังเกียจเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่พลในกองทัพ และสละทั้งเสบียงกรัง ที่หามาได้อย่างเหนื่อยยากให้แก่กองทัพ ที่พวกเขาแทบนึกถึงประโยชน์อันใดต่อชีวิตมิได้ แต่อำนาจแห่งมหาเทพต่างหากเล่า ที่พวกเขาทั้งศรัทธาและยำเยงยิ่งกว่า  สิ่งอันใดที่เทวะประสงค์และประทานให้ ล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องยอมรับว่าคือชะตา ดังนั้น กษัตริย์ที่เป็นเทวราชา คืออณูของมหาเทวะ เปรียบเสมือนเทพเจ้าในร่างมนุษย์ จึงสามารถทรงอำนาจเหนือชีวิตพวกเขาได้อย่างไม่ต้องคิดกังขาใดๆ มนุษย์ผู้อ่อนแอย่อมยอมตามคำบัญชาของเทพเจ้าเสมอ

คลิ๊กอ่าน >> เมืองพระนคร

คลิปวีดีโอแสดงการใช้เทคโนโลยีตรวจพบเมืองโบราณบนมเหนทรบรรพต



พนมกุเลน เมืองเสียมเรียบ
บ่อน้ำผุดใกล้จุดชมศิวลึงก์พันองค์ จะไหลไปรวมกับธารศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านเชื่อว่าน้ำนี้ช่วยรักษาโรคได้



ชมธารน้ำศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมกุเลน
บรรยากาศริมลำธารศิวลึงก์ ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ ชมภาพ เที่ยวเสียมเรียบกับหน่อโพธิ์ แทรเวล





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สุริยวรรมัน : เรื่องจริงเป็นอย่างไร

ถอดความนัยจากนิยายสู่ประวัติศาสตร์ "สุริยวรรมัน"

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ : เคล็ดวิชาสร้างอาณาจักรเขมร (๑)

มหิธรปุระ

อินเดียที่หนึ่งในดวงใจ