สุริยวรรมัน : เรื่องจริงเป็นอย่างไร

สุริยวรรมัน

เรื่องจริงในประวัติศาสตร์เขมรเป็นอย่างไร?

บทความนี้ เป็นการต่อยอดจากเนื้อเรื่องในนิยายเรื่อง "สุริยวรรมัน" ของคุณทมยันตี ที่อ่านแล้วได้ความรู้และสนุกจนวางไม่ลง ในขณะเดียวกันก็ยังกระตุ้นให้ต้องการค้นคว้าลึกขึ้นไปอีก ว่าเรื่องจริงกับนิยายเหมือนกันหรือไม่ ... แล้วก็ได้คำตอบว่า 

เรื่องราวในนิยายเป็นเพียงเค้าลาง ชื่อตัวละครในสุริยวรรมัน อาจซ้ำกันกับบุคคลในประวัติศาสตร์เขมร แต่บทบาทกับความเป็นจริงต่างกัน




    ประเด็นสำคัญที่ควรรู้

        ๑) พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ : เจ้าชายพิษณุหริเกศวร พระเอกของเรื่อง ที่เข้าใจได้ว่าคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในความเป็นจริงเมื่อครั้งทรงพระเยาว์นั้นจะมีพระนามใดไม่ปรากฏ แต่คุณทมยันตี ได้ตั้งชื่อให้เช่นนี้ ก็สอดคล้องกับความจริงที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ทรงเคารพศรัทธาในพระวิษณุเป็นสรณะสูงสุด และยังวางลักษณะบุคคลิกของตัวละครนี้ ให้มีความหยิ่งผยอง พอๆ กับความกล้าหาญ สติปัญญา และความกระตือรือร้นในการศึก ไม่ต่างจากลักษณะของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ที่พบในจารึกว่า  พระองค์ทรงทำศึกแย่งบัลลังก์กับพระปิตุลา คือพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ จะด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ แต่ก็น่าจะประเมินได้ว่า การแย่งชิงราชบัลลังก์และกบฏในอาณาจักรเขมรเกิดขึ้นได้เสมอ หากกษัตริย์ไม่เข้มแข็งพอ และตลอดรัชสมัยของพระองค์ก็ทำศึกอยู่มิหยุดหย่อน (มีภาพขบวนแห่เฉลิมพระเกียรติของพระองค์สลักไว้ที่ปราสาทนครวัด ที่มีเผ่าเสียมกุก (เข้าใจว่าคือสยาม) ร่วมในกองทัพด้วย


 ภาพสลักขบวนแห่ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ที่ปราสาทนครวัด
ภาพสลักที่ระเบียงทิศใต้ ปีกตะวันตกของปราสาทนครวัด
*ขบวนเกียรติยศจากบ้านเมืองเครือญาติสนิทของกษัตริย์กัมพูชา ภาพสลักราว พ.ศ. 1650 บนระเบียงปราสาทนครวัด (ขวา) ขบวนเสียมกุก (ชาวสยาม) เจ้านายและไพร่พลนุ่งถุงเหมือนโสร่ง ไม่นุ่งแบบเขมร นำหน้าขบวนละโว้ (ซ้าย) ขบวนละโว้ อยู่ตามหลังขบวนเสียมกุก เครื่องแต่งกายและกิริยาท่าทางของเจ้านายบนหลังช้างกับไพร่พลในขบวน มีลักษณะอย่างเดียวกับประเพณีเขมรยุคนั้น (ภาพและคำบรรยายจากหนังสือ ขอมอยู่ไหน ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2557)


     ๒) พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑  : ในนิยาย คือพระบิดาของเจ้าชายพิษณุหริเกศวร ผู้ครองมหิธรปุระต่อจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ แต่ทรงทำองค์เหมือนวานปรัศถ์ คือบำเพ็ญพรต ปลีกวิเวก ณ เขาใกล้เขตเมือง ด้วยเหตุผลเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามในเมืองพระนครนอนใจว่าทางฝ่ายมหิธรปุระ ไม่มีพิษสงใด แต่ในความเป็นจริงกษัตริย์วานปรัศถ์องค์นี้ คอยสดับข่าวพร้อมชี้แนะโอรสเรื่องการศึกอยู่กลายๆ และเป็นบุคคลสำคัญที่ชี้ประตูกลศึกให้แก่เจ้าชาย

            ประวัติศาสตร์  ทมยันตีเปลี่ยนบทบาทตัวละครสลับกับความเป็นจริง เพราะพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ องค์จริงนั้น ครองราชย์ พ.ศ. ๑๗๕๐-๑๖๕๖ ต่อจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระปิตุลาของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แต่ด้วยหตุใดไม่ปรากฏ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ทรงชิงบัลลังก์จากพระปิตุลา

๓) ราชวงศ์ถือบวชในเขตมหิธรปุระนิยาย  สรรค์สร้างให้ให้พระบิดาของเจ้าชายพิษณุหริเกศวร คือพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๑ ว่าทรงผนวชเป็นวานปรัศถ์ (นักบวชในลัทธิพราหมณ์) ที่เขาในเขตมหิธรปุระ
        ประวัติศาสตร์  ราชวงศ์ที่ถือบวชในแถบมหิธรปุระมีจริง แต่เป็นพระญาติที่เสด็จมาจากเมืองพระนคร พระนามว่าเจ้าชายนเรนทราทิตย์ ทรงบำเพ็ญพรต ณ ปราสาทพนมรุ้ง แต่ก็เป็นช่วงเวลาหลังจากสมัยของธรณินทรวรมันไปมากแล้ว กล่าวคือ เจ้าชายนเรนทราทิตย์เป็นหลานของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๖๕๖-๑๖๙๓) ซึ่งเวลานั้น ราชวงศ์มหิธรปุระได้ครองบัลลังก์เมืองพระนครแล้ว การเสด็จมาบำเพ็ญพรตของเจ้าชายพระองค์นี้ นอกจากจะเป็นการปลีกวิเวก ณ เขาแห่งฤาษีแล้ว ยังน่าจะเป็นเสมือนการกลับมาเป็นหลักชัยในบ้านเกิดของตระกูล หรือมาเป็นผู้นำในการดูแลหมู่บ้านของนักบวชแห่งนี้ (กลุ่มพราหมณ์และนักบวชมีความสำคัญต่อฐานอำนาจของราชวงศ์) ภาพแกะสลักของเจ้าชายนเรนทราทิตย์ที่เป็นวานปรัศถ์กำลังรักษาผู้ถูกอสรพิษขบกัด ยังคงปรากฏอยู่ที่หน้าบันของปราสาทพนมรุ้งด้วย จารึกพนมรุ้งหลักที่ K.384 ระบุว่าโอรสของนเรนทราทิตย์ นามว่า "หิรัณยะ" เป็นผู้แต่งจารึกหลักนี้ และได้ประดิษฐานรูปทองของบิดาไว้ เมื่อ พ.ศ.๑๖๙๑
ย้อนกลับไปที่กล่าวถึง พนมรุ้งเป็นเขาของฤาษีนั้น มีหลักฐานระบุว่า ที่นี่เป็นเสมือนชุมชนหรือเมืองของฤาษี มาก่อนหน้านานแล้ว (อาจคล้ายกับสารนาถในสมัยพุทธกาล ที่เเป็นสถานที่นักบวชพากันมาปลีกวิเวก) พระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (พ.ศ.๑๕๑๑-๑๕๔๔) ทรงโปรดให้สร้างศิลาจารึกสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระบิดา (พระเจ้าราเชนทรวรมัน) และถวายที่ดินโดยรอบให้แก่เทวสถานบนเขาพนมรุ้ง สร้างรูปเคารพ สร้างเมือง สร้างอาศรมให้แก่โยคี ดังนั้น เมื่อเจ้าชายนเรนทราทิตย์ประสงค์จะออกบวชเป็นวานปรัศถ์ จึงควรแล้วที่จะเสด็จมาบำเพ็ญพรตที่นี่ และตามหลักฐานนเรนทราทิตย์ก็ไม่ได้เสด็จมาบำเพ็ญพรตเฉยๆ แต่ยังมาพัฒนาดูแลพื้นที่หรือชุมชนพนมรุ้ง ต่อเติมศาสนสถานแห่งนี้ เสมือนเป็นหัวหน้าของชุมชนเลยทีเดียว
เรื่องการเป็นนักบวชหรือพราหมณ์หัวหน้าของศาสนสถาน โดยเฉพาะศาสนสถานใหญ่ๆ ที่มีหมู่บ้านในการปกครองหลายแห่ง มีผลประโยชน์นำส่งมาก (เรียกว่าระบบกัลปนา ที่ชาวบ้านในเขตที่กษัตริย์กำหนดให้ขึ้นตรงกับศาสนสถานใด ก็ต้องส่งส่วยให้แก่ศาสนสถานนั้น) อย่างเช่น ปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้ ย่อมมีความสำคัญ มีอิทธิพลต่อราชบัลลังก์อย่างแน่นอน



ภาพฤาษีนเรนทราทิตย์ที่พนมรุ้ง นับเป็นภาพเล่าเรื่องชีวประวัติรุ่นแรกในอารายธรรมเขมร

๔) มหาราชครูของสองสมัย :  นิยาย  ตัวละครที่สำคัญมากอีกท่านหนึ่งคือ พราหมณ์สทาศิวะทิวากรบัณฑิต ในท้องเรื่องเป็นผู้อภิบาลและถ่ายทอดสรรพวิทยาให้กับทั้งเจ้าชายพิษณุหริเกศวร และชลันธรี นางเอกของเรื่อง ตำแหน่งว่าที่กัมพูชาลักษมี หญิงสูงศักดิ์จากเผ่าภวาลัย ในนิยายนั้น พราหมณ์ทิวากรบัณฑิตเคยมีอำนาจเต็มที่ในเมืองพระนคร เป็นผู้ถวายพิธีราชาภิเษก สวมมงกุฎให้แก่กษัตริย์ เรียกว่าอำนาจล้นฟ้า แต่เมื่อเกิดกบฏขึ้นเนืองๆ ก็มีคนเก่งทางการทหารเข้ามาโดดเด่นแทน นามสัญชัก สังกรมะ ผู้นี้ได้กุมอำนาจฝ่ายอาณาจักร (ทางการทหาร) และเริ่มไม่เกรงต่ออำนาจของศาสนจักรอีกต่อไป กอร์ปกับสิ่งอันไม่ชอบธรรมหลายประการได้เกิดขึ้น ทำให้ทิวากรบัณฑิตที่รับราชการมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ละจากเมืองพระนคร หลังจากทำพิธีสวมมงกุฎให้แก่หรรษวรมันที่ ๓ แล้ว (อย่างไม่เต็มใจ) เขาผละมาสู่ราชวงศ์มหิธรปุระ และได้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมเจ้าชายพิษณุหริเกศวร ให้ยิ่งใหญ่ ตามท้องเรื่องพราหมณ์ทิวากรบัณฑิต ที่เป็นผู้ทรงอำนาจอยู่เดิม ได้ใช้อำนาจนั้นอย่างมีคุณธรรม จึงทำให้ท่านยังคงมีเส้นสายพวกพ้องที่พร้อมจะพลีชีพช่วยได้ทุกเมื่อ การชิงบัลลังก์เมืองพระนครของเจ้าชายจึงสำเร็จได้ด้วยพลังเบื้องหลังจากทิวากรบัณฑิตผู้นี้เป็นสำคัญ

ประวัติศาสตร์  พราหมณ์ทิวากรบัณฑิต เริ่มปรากฏว่าเข้ารับราชการในสมัยพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๓ (ครองราชย์ พ.ศ.๑๖๐๙-๑๖๒๓ ต่อจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ และ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒) และมีบทบาทสำคัญต่อเนื่องมาอีก ๓ รัชสมัย แม้ว่าจะเปลี่ยนผู้ครองบัลลังก์จากราชวงศ์สุริยวรมันเป็นราชวงศ์มหิธรปุระแล้วก็ตาม และท่านได้รับเกียรติสูงสุดในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ให้มีหน้าที่เดินทางไปแสวงบุญถวายของยังศาสนสถานต่างๆ ภายในราชอาณาจักรแทนพระราชา ดังมีจารึกพบที่ปราสาทเขาพระวิหารกล่าวเยินยอว่า “ศรีทิวากรบัณฑิตมีฝ่าเท้าวางอยู่เหนือมงกุฎซึ่งประดับพระเศียรของศรีสุริยวรมันผู้เป็นเจ้าแห่งโลก” คาดว่าราชปุโรหิตท่านนี้คงจะถึงแก่อสัญกรรมในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒

อีกประเด็นหนึ่งคือ นิยายนำเอานามของราชครูพราหมณ์ ๒ ท่าน ในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์มารวมเป็นหนึ่ง ได้แก่ สทาศิวะ และ ทิวากรบัณฑิต ท่านหลังนี้ได้กล่าวข้างต้นมาแล้ว ส่วนสทาศิวะ เป็นนามที่ปรากฏในศิลาจารึกสด๊กก็อกธม ว่าพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ ทรงบูรณะปราสาทแห่งนี้ เพื่อเป็นคุรุทักษิณา (บูชาครู) แด่ราชครูพราหมณ์สทาศิวะ ผู้สืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์ศิวะไกวัลย์  พราหมณ์สทาศิวะท่านนี้มีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติกับกษัตริย์ด้วย เพราะได้สมรสกับน้องสาวของพระนางวีรลักษมี มเหสีของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ท่านมีความสำคัญและมีบทบาทต่อราชวงศ์มากจนได้รับยกย่องฐานะเทียบเท่าวรรณะกษัตริย์ ในพระนามว่า ศรีชเยนทรวรมัน

ส่วนพราหมณ์ศิวะไกวัลย์  ต้นตระกูลของสทาศิวะนั้น ท่านเป็นมหาราชครูในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เป็นผู้ที่ได้รับถ่ายทอดวิชาการทำพิธีเทวราชาจากพราหมณ์หิรัณยทามะที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เชิญมาจากชนบท เมื่อเรียนรู้ครบแล้วก็ทรงมอบหมายให้พราหมณ์ศิวไกวัลย์เป็นผู้ทำพิธีราชาภิเษกให้แก่พระองค์เป็นเทวราชา จากนั้น ลัทธิเทวราช ก็สืบทอดต่อมาในดินแดนเขมร โดยพราหมณ์ผู้ที่จะทำพิธีนี้ให้แก่กษัตรยิ์ได้ต้องเป็นสายตระกูลของศิวะไกวัลย์เท่านั้น


    ๕) สัญชัก สังกรมะนิยาย  เป็นตัวละครเด่นอีกตัวหนึ่ง ที่คุมอำนาจฝ่ายทหารทั้งหมดของฝ่ายเมืองพระนคร เป็นคู่ปรับกับทิวากรบัณฑิตราชครูของมหิธรปุระ คู่ปรับคู่นี้เปี่ยมไปด้วยศักดิ์ศรี ห้ำห้่นกันอย่างมีเกียรติ ทำศึกกันด้วยกำลังปัญญา และยกย่องซึ่งกันและกัน  คุณทมยันตีสร้างให้สัญชัก เข้ามามีบทบาทตั้งแต่สมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมัน โดยเข้ามาช่วยปราบกบฏ จากนั้นก็ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย สัญชักใช้ความสามารถผสานกับเกมการเมือง เข้ากุมอำนาจฝ่ายอาณาจักร (กำลังทหาร) ได้ทั้งหมด และสร้างตนให้มีอำนาจเทียบเท่าหรือเหนือกว่าฝ่ายศาสนจักร ยิ่งต่อเนื่องผ่านสมัยมาถึงหรรษวรมันที่ ๓ อำนาจของสัญชักยิ่งแรงกล้า ทำให้ทิวากรบัณฑิต ตัดสินใจทิ้งเมืองพระนคร ผละมาอยู่กับมหิธรปุระ

ประวัติศาศาสตร์ ปรากฏนามท่าน "สงคราม" เป็นขุนศึกคู่พระทัย พระเจ้าอุทัยทิตยวรมัน ขุนศึกท่านนี้ช่วยปราบกบฏต่างๆ สำเร็จ ทำให้บ้านเมืองกลับมาสู่ความสงบเรียบร้อย (พอพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ สวรรคต แว่นแคว้นต่างๆ ก็พยายามแข็งข้อ รวมถึงกบฏภายในเมืองพระนครด้วย) 

๖) ชัยวีรวรมัน :  นิยาย  กล่าวถึงเผ่าวีรวรรมัน ว่ามีศักดิ์สูง ควบคุมพื้นที่แถบปราสาทพนมรุ้ง เผ่านี้เคยยิ่งใหญ่สมัยชัยวีรวรมัน หากเผ่านี้เข้ากับฝ่ายใด (ฝ่ายมหิธรปุระ หรือฝ่ายผู้ครองเมืองพระนคร) ฝ่ายนั้นจะได้เปรียบ จึงทำให้เจ้าชายพิษณุหริเกศวร ต้องใช้กลยุทธ์หลายประการ ที่จะนำเอาเผ่านี้มาเข้ากับฝ่ายตน ในขณะที่ก็ต้องระวังว่าจะถูกย้อนรอยเข้าด้วยเช่นกัน

        ประวัติศาสตร์  มีกล่าวถึง พระเจ้าชัยวีรวรมัน ว่าครองราชย์พ.ศ. ๑๕๔๕-๑๕๔๙ แต่หลังจากนั้นก็หายไปจากหน้าบันทึกของจารึกต่างๆ เป็นที่เข้าใจว่า ช่วงที่พระองค์ครองพระนคร ได้เกิดจลาจลอยู่เนืองๆ เป็นสมัยที่ไม่สงบสุขเลย และนี่ก็เป็นช่องให้เจ้าชายจากบูรพาทิศยกทัพมาชิงบัลลังก์ได้สำเร็จ องค์นั้นคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๔๕-๑๕๙๓) จะเห็นว่าช่วงพ.ศ. ซ้อนกัน ก็เพราะในช่วง ๑๐ ปีแรก พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ประทับอยู่นอกเมืองพระนคร (คงจะยังไม่ได้ชิงบัลลังก์อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ว่ามีอำนาจทางการทหารเหนือกว่าแล้ว)  พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ทรงตั้งราชวงศ์ใหม่ และคาดว่าทรงเสกสมรสกับพระนางวีรลักษมี มเหสีของพระเจ้าชัยวีรวรมัน เพื่อความชอบธรรมของราชบัลลังก์ 

๗) ชนเผ่าแถบพนมดงรักนิยาย  มีชนเผ่าที่อยู่บนเส้นทางจากพนมรุ้งไปยังเขาพระวิหาร ได้แก่ เผ่าวีรวรมัน เผ่าภวาลัย เผ่าปาสะคะเมา เผ่าแรกเคยยิ่งใหญ่คุมพื้นที่แถบเขาพนมรุ้ง เผ่าที่สองคุมทางขึ้นเขาพระวิหารและมีอำนาจค้ำจุนราชบัลลังก์ และมีความเชี่ยวชาญเรื่องการฝึกช้างป่า ส่วนเผ่าปาสะคะเมา ในเรื่องค่อนข้างดิบเถื่อน ไม่ค่อยปรากฏตัวให้เห็น นับถือเทพเจ้าป่า ดุร้าย หวงถิ่น

            ประวัติศาสตร์  พื้นที่ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก หากเป็นภาษาถิ่นเดิมเรียก เขาพนมแวง (หรือภาษาเขมรออกเสียง พนมดองแหรก แปลว่า ไม้คาน เพราะเขาเทือกนี้มียอดราบยาวตรงเหมือนไม้คาน) เดิมเป็นป่าที่เราเรียกว่า ดงพญาไฟ มีชนกลุ่มน้อย ได้แก่ พวกกุย พวกเยอ อาศัยอยู่นานนับพันๆ ปีแล้ว ชนเหล่านี้กระจายตัวอยู่ตั้งแต่ทางตอนใต้ของลาว มาจนถึงตอนเหนือของกัมพูชา หลังจากบ้านเมืองเจริญขึ้น คนกลุ่มนี้ก็ได้เข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน กลายเป็นกลุ่มชนเผ่า มีอยู่ในเขตแดนไทยหลายกลุ่ม ชาวกุย ชาวเยอ อยู่อาศัยหนาแน่นแถบจังหวัดสุรินทร์ และศรีษะเกษ ชนเหล่านี้มีภาษาของตนเอง และมีความสามารถในการจับช้างป่าและฝึกช้างป่าได้เยี่ยมยอด อย่างที่เรารู้กันว่าชาวบ้านในจังหวัดสุรินทร์มีวิชาจับข้างป่า มีวิชาหมอปะกำช้างที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ



พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ประทับเหนือราชบัลลังก์ ทอดพระเนตรขบวนสวนสนาม
พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ทรงนั่งห้อยพระบาท ทอดพระเนตรขบวนสวนสนามในภาพแรก
ย้อนอ่าน ตอนที่ ๑



* ภาพขบวนสวนสนามและข้อมูล อ้างอิงจาก "ทหารไทยเมืองละโว้ สวนสนามที่ปราสาทนครวัด" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมน์ ศิลปะและวัฒนธรรม ใน Matichon Online ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_740482

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ถอดความนัยจากนิยายสู่ประวัติศาสตร์ "สุริยวรรมัน"

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ : เคล็ดวิชาสร้างอาณาจักรเขมร (๑)

มหิธรปุระ

อินเดียที่หนึ่งในดวงใจ