มหิธรปุระ

ราชวงศ์มหิธรปุระมาจากไหน

ตอนนี้ ยังคงเป็นการวิเคราะห์เรื่องราว "สุริยวรรมัน" ที่แต่งโดยคุณทมยันตี ต่อเนื่องมา โดยเล่ากันมาในสองตอนแรกแล้วว่า เจ้าชายพิษณุหริเกศวรในนิยาย "สุริยวรรมัน" ของทมยันตี ก็คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ มหาราชอีกพระองค์หนึ่งของเขมร ที่สืบสายมาจากราชวงศ์มหิธรปุระ

... แล้วราชวงศ์มหิธรปุระนั้นเป็นใคร มาจากไหน?

ต้นลุ่มน้ำมูล หลักแหล่งดั้งเดิมของวงศ์มหิธรปุระ บรรพชนกษัตริย์กัมพูชา ที่สถาปนานครวัด นครธม (แผนที่ดัดแปลงจากพิมพ์ครั้งแรก ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 11 กันยายน 2546 หน้า 107)
ภาพนำมาจา
ก  
https://www.matichon.co.th/columnists/news_166130

มีหลักฐานจากศิลาจารึก ที่ทำให้เชื่อว่า ราชวงศ์มหิธรปุระ  ครองแคว้นทางตอนเหนือของลุ่มน้ำมูล บนที่ราบสูงโคราช ศาสนสถานใหญ่ๆ ที่ราชวงศ์นี้สร้างไว้หรือเป็นผู้บูรณะ เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมวัน ปราสาทเขาพนมรุ้ง  ดินแดนแถบนี้ถูกเรียกชื่อแยกออกจากพื้นที่ในเขตประเทศกัมพูชา ดังปรากฏในศิลาจารึกของแคว้นจนาศะ (ปัจจุบันคือบริเวณเมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) ว่า “บริเวณที่ราบสูงเหนือทิวเขาพนมดงเร็กเรียกว่า นอกกัมพุชเทศะ”  (คนไทยเรียกเขาพนมดงรัก กั้นระหว่างไทยอยู่ตอนเหนือกับกัมพูชาที่อยู่ตอนใต้) จึงน่าจะถือได้ว่า ราชอาณาจักรในเขตแดนไทยนี้เป็นอีกอาณาจักรหนึ่งที่มีอำนาจเป็นอิสระของตนเอง แต่ก็คงมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติกับราชวงศ์ที่ครองเมืองพระนครอยู่ด้วย การติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ก็ต้องผ่านช่องเขาทั้งหลายตามแนวพนมดงรักที่เป็นเสมือนปราการกั้นเขตแดนกลายๆ

ในช่วงเวลาที่พระญาติในราชวงศ์อื่นมีอำนาจครองเมืองพระนคร ราชวงศ์มหิธรปุระก็สงบเสงี่ยมอยู่ในที่ตั้งของตนในแถบลุ่มน้ำมูล แต่เมื่อใดที่อำนาจทางเมืองพระนครอ่อนแอลง เจ้าแห่งมหิธรปุระก็พร้อมขึ้นสู่บัลลังก์สูงสุดแทน กษัตริย์จากราชวงศ์มหิธรปุระที่ทรงพระราชอำนาจยิ่งในประวัติศาสตร์เขมร ได้แก่ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ และพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

แม้นักประวัติศาสตร์จะระบุว่าราชวงศ์มหิธรปุระ ก่อตั้งโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ (ครองราชย์ พ.ศ.๑๖๒๓-๑๖๕๐)  แต่ในความเป็นจริงนั้น คงได้มีพระญาติวงศ์ของพระองค์ครองดินแดนแถบนี้อยู่ก่อนแล้ว จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ทำการชิงบัลลังก์เมืองพระนครจากกษัตริย์สายราชวงศ์สุริยวรมันที่ ๑ ได้สำเร็จ เสด็จขึ้นครองราชย์คุมอาณาจักรเขมรทั้งสิ้นแล้ว จึงได้ทำการสถาปนาราชวงศ์ใหม่อย่างเป็นทางการปกครองราชอาณาจักรทั้งมวล

           ด้วยราชวงศ์มหิธรปุระมีกำเนิดและทรงอิทธพลอยู่ในเขตที่เป็นดินแดนไทยในปัจจุบัน ทำให้นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ใช้ยุคความรุ่งโรจน์ของราชวงศ์มหิธรปุระ เป็นช่วงเวลาการแบ่งยุคของงานศิลปะวัตถุที่พบในดินแดนไทยด้วย โดยแยกเป็น ก่อนสมัยราชวงศ์มหิธรปุระ (ราวครึ่งแรกของพศต.ที่ ๑๒ - ครึ่งหลังของพศต. ที่ ๑๖)  และ สมัยราชวงศ์มหิธรปุระ (ราวครึ่งแรกของพศต.ที่ ๑๗ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ - ครึ่งหลังพศต. ที่ ๑๘ คือ หลังรัชสมัยของพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ พระโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ทรงครองราชย์ต่อมา)

ความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์จากราชวงศ์นี้ อาจดูได้จากหลักฐานหนังสือภูมิศาสตร์ของราชวงศ์หมิง กล่าวถึงเขตแดนในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๖๕๖-๑๖๙๓) ไว้ว่า จรดด้านใต้ของเชนชิง  และมีฝั่งทะเลอยู่ทางตะวันออก โดยมีพุกามอยู่ทางตะวันตก และไชยาในแหลมมลายู อยู่ทางทิศใต้

ส่วนสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ( พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๒) ที่คนไทยน่าจะรู้จักมากกว่ากษัตริย์เขมรพระองค์อื่น เพราะทรงนับถือพุทธศาสนา ทรงสร้างพระนครธม ปราสาทบายน ปราสาทหินพิมาย  สร้างธรรมศาลา ๑๒๑ แห่ง และ อโรคยศาลาควบคู่กัน ไว้ตามถนนหนทางจากทุกทิศที่มุ่งสู่เมืองพระนคร และว่ากันว่า อาณาจักรเขมรกว้างใหญ่ที่สุดก็ในสมัยของพระองค์นี่แหล่ะ หลังจากพระองค์สวรรคตแล้ว อำนาจของเขมรก็เริ่มเสื่อม จนสลายลงเมื่อพ่ายให้กับอาณาจักรไทยราวพศต.ที่ ๒๐ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงนับเป็นมหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักเขมร

มาว่ากันต่อถึงตัวเอกของเรื่อง เจ้าชายพิษณุหริเกศวร ในนิยาย ที่ต่อมาราชาภิเษกขึ้นเป็น พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์แล้วทรงสืบเชื้อสายมาทางใด? 


มีจารึกที่พบ ณ ปราสาทพนมรุ้ง กล่าวถึง พระราชาในราชวงศ์นี้ ทรงพระนามว่า หิรัณยวรมัน และพระชายานาม พระนางหิรัณยลักษมี ทรงเป็นพระบิดา พระมารดา ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๖๓๓ - พ.ศ. ๑๖๕๐) และพระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ ๑ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๖๕๐- ๑๖๕๖)


พระเจ้าหิรัณยวรมัน และพระนางหิรัณยลักษมี ยังมีพระนัดดาชื่อว่า พระเจ้ากษิตีนทราทิตย์ ทรงให้เสกสมรสกับพระราชธิดานามว่า นเรนทรลักษมี มีพระโอรส ซึ่งก็คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ เท่ากับว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ทรงเป็นหลานตา หลานยาย ของพระเจ้าหิรัณยวรมัน-พระนางหิรัณยลักษมี และเป็นหลานลุงหรือหลานน้า ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ และ พระเจ้าธรณีทรวรมันที่ ๑ (พระเจ้าธรณีทรวรมันที่ ๑ ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖, ส่วนพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ได้ชิงบัลลังก์จากพระเจ้าธรณีทรวรมันที่ ๑ และขึ้นครองราชย์ต่อ) พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ทรงสร้างองฺครวัด หรือนครวัด เสมือนอนุสรณ์สถานให้โลกจดจำพระองค์อยู่จนถึงทุกวันนี้

แต่ในสมัยที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ยังทรงเป็นเจ้าชาย และประทับอยู่ ณ มหิธรปุระนั้น ยังไม่เกิดองฺครวัด  แล้วเมืองพระนคร ในเวลานั้นคือบริเวณใด มีสิ่งใดบ้าง?
 คลิ๊กอ่าน >> เมืองพระนคร

ศึกสงครามสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒
ภาพการสู้รบในสงคราม สลักอยู่ที่ปราสาทนครวัด


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สุริยวรรมัน : เรื่องจริงเป็นอย่างไร

อินเดียที่หนึ่งในดวงใจ

เที่ยวชัยภูมิต้องไม่พลาดที่นี่

ถอดความนัยจากนิยายสู่ประวัติศาสตร์ "สุริยวรรมัน"

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ : เคล็ดวิชาสร้างอาณาจักรเขมร (๑)