ตำนานและความหมายของพระแม่ทุรคาปางมหิสาสุรมรรทินี

 เทวีทุรคา ปางมหิสาสุรมรรทินี

             

ทุรคาปางปราบควายอสูร หรือ มหิสาสุรมรรทินี เป็นรูปเคารพที่ทำบูชาในช่วงเทศกาลนวราตรี มีที่มาและความหมายอย่างไร
        ในภาพเป็น รูปเคารพพระแม่มหิสาสุรมรรทินี หรือ ทุรคาปางปราบควายอสูร ปั้นโดยดินเหนียวจากอินเดีย และใช้ช่างปั้นเดินทางมาจากอินเดีย ภาพนี้ เป็นพิธีที่วัดวิษณุ ยานนาวา (สมาคมฮินดูธรรมสภา) มีชาวอินเดีย ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย และเชื้อสายอื่นๆ มาร่วมพิธีกันมากมายเป็นประจำทุกปี 
        โดยทั่วไปช่วงเทศกาลนวราตรี ช่างชาวอินเดียจะปั้นรูปเคารพในลักษณะนี้ ไว้ในสถานที่ทำการบูชา หรือเทวาลัย ประจำหมู่บ้าน คือ เป็นรูปพระแม่ทุรคา มีสิงโตเป็นพาหนะ มีมหิสาสูรมอบอยู่แทบเบื้องบาท และอาจรายล้อมด้วยเทพเจ้าองค์อื่นๆ เมื่อจบพิธีแล้วก็จะนำรูปปั้นไปลอยแม่น้ำ เสมือนส่งเสด็จเหล่าเทพกลับสู่สรวงสวรรค์

            การศึกษาเรื่องเทพฮินดูจะเป็นอันขาดตกบกพร่องไปอย่างมากถ้าไม่พูดถึงเทพฝ่ายสตรีหรือเทวี มีตำนานมากมายหลากหลายเกี่ยวกับเทพเจ้าฝ่ายหญิง แต่ที่เด่นชัดคือเทวีทุรคา ซึ่งถือกันว่าเป็นปางหนึ่งของพระแม่อุมาหรือปราวตีองค์ชายาของพระศิวะ ตำนานเรื่องทุรคาปราบควายอสูรเป็นสิ่งที่ทำให้เทวีเป็นที่จดจำและเป็นภาพลักษณ์ของพระนางจนได้รับขนานนามว่า "พระแม่มหิสา" หรือ "มหิสาสุรมรรทินี" (Mahishasuramardini) 

            ที่จริงตำนานเดียวกันนี้มีหลายสำนวนเล่าแตกต่างกันไปในปุราณะฉบับต่างๆ แต่ที่ผูกเรื่องง่ายที่สุดก็คือในเทวีมหาตมยะปุราณะ (Devi Mahatmya Purana) ซึ่งเล่าว่า มหิสาสูร (ควายอสูร) ได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมตะ จะตายได้ก็ด้วยน้ำมือของเพศหญิงเท่านั้น ดังนั้นจึงเหิมเกริมรังควาญโลกมนุษย์ และก็มุ่งจะบุกสวรรค์ต่อไปอีก มหิสายื่นคำขาดกับพระอินทร์ให้ออกมาต่อสู้ อนิจจาพระอินทร์พ่ายแพ้จนต้องหนีไปพึ่งพระพรหม พระศิวะ และพระวิษณุ เหล่าเทพทั้งหลายจึงรวมตัวกันต่อกรกับมหิสา โดยการเนรมิตพลังและอำนาจรวมกันในภาคของหญิงสาวสวย เทพทั้งหลายได้มอบอาวุธให้แก่นางไปต่อสู้ เช่น อาวุธจากพระศิวะ และ พระวิษณุ สิงโตภูเขาจากท้าวหิมวันต์ ถ้วยสุราจากท้าวกุเวร เมื่อได้รับพรทั้งสิ้นแล้วเทวีก็เปล่งเสียงหัวเราะกึกก้องและเหล่าเทพก็ตะโกนพร้อมรบสนั่นหวั่นไหว 

            มหิสาได้ยินดังนั้นจึงส่งทหารออกไปสืบว่าเกิดสิ่งใดขึ้น เมื่อได้ทราบความเกี่ยวกับเทวีซึ่งมีความงดงาม ยังคงความสาวบริสุทธิ์ เปี่ยมไปด้วยความรัก ความกล้าหาญ  มหิสาก็เกิดความต้องการจะเป็นเจ้าของเทวี จึงเดินทางไปพบเทวีในภาคของชายหนุ่มรูปงามและขอแต่งงานกับพระนาง แต่พระนางกลับกล่าวว่า เธอเกิดมาเพื่อพิทักษ์ความถูกต้อง เขาควรจะรีบหนีไปเสียหรือไม่ก็มาสู้กัน มหิสาจึงกลับสู่รูปของควายอสูรและต่อสู้กับพระนาง พระนางเอาชนะมหิสาได้ทรงฉีกอกและตัดหัวมหิสา เสร็จศึกพระนางได้ออกปลีกวิเวกบำเพ็ญบารมี และครององค์เป็นพรหมจารี

              ตำนานนี้บอกถึงอะไรหลายอย่าง ที่สำคัญคือ ความตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับแบบแผนความเป็นหญิงในคำสอนทั่วไปของศาสนาฮินดู ซึ่งสอนว่าธรรมชาติของผู้หญิงย่อมมีความสงบเสงี่ยม ไม่ชอบสงคราม และบทบาทของผู้หญิงขึ้นอยู่กับผู้ชายเป็นสำคัญ ต้องพึ่งพิงผู้ชายในฐานะเป็นภรรยา ลูกสาว หรือแม่ 

                ตามตำนานมหิสาประมาทว่าผู้หญิงไม่แข็งแกร่งพอที่จะสังหารตนได้ และตอนแรกเขาอยากแต่งงานกับเทวี เขาสับสนในความมีเสน่ห์น่าหลงใหลของพระนางซึ่งขัดแย้งกับวาจากระหายสงครามที่พระนางเปล่งออกมา มหิสาได้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ในองค์เทวี ได้แก่ ความงามทั้งหลาย (rasa) ความเย้ายวนแบบอิตถีเพศ (smgara) แต่ก็มีความกล้าหาญด้วยเช่นกัน (virya) 

                ก่อนที่จะสู้กับมหิสาพระนางทรงดื่มสุราจากถ้วยของท้าวกุเวร จากนั้นพระนางก็แสดงออกให้เห็นถึงพลังของเทพีที่มีเหนือเหล่าเทพทั้งหลายที่ล้วนแต่เคยพ่ายแพ้ให้แก่มหิสา ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงเซ่นสรวงพระนางด้วยเลือดแทนสุรา เพื่อทำให้พระนางมีพลังพิชิตศัตรู แต่การบูชาแบบนี้ไม่ใช่หลักการของศาสนาฮินดู เป็นเพียงพิธีกรรมที่เป็นสัญลักษณ์สืบเนื่องมาจากตำนานเท่านั้น อหิงสาคือหลักคำสอนสำคัญของฮินดู ซึ่งอาจดูขัดแย้งกับเรื่องความรุนแรงในตำนานและการบูชาเทวีด้วยเลือด แต่ด้วยนัยเชิงสัญลักษณ์ที่ว่าเทวีคือตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่เลือดคือพลังของชีวิต ดังนั้นการสังเวยเลือดให้เทวีก็เสมือนการเติมพลังชีวิตและคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ธรรมชาตินั่นเอง อีกความหมายหนึ่งในการใช้สัตว์สังเวยก็เพื่อให้สัตว์เป็นตัวแทนของมารหรือความชั่วร้าย เช่น แทนอสูรในตำนาน พิธีกรรมการสังเวยด้วยเลือดและสัตว์นี้ก็มักพบในหมู่ชนวรรณะต่ำ แต่ไม่พบในชุมชนของพราหมณ์และชนวรรณะสูง

               อีกด้านหนึ่งตำนานมหิสาแสดงถึงความเกื้อกูลกันระหว่างบุรุษกับสตรี เหล่าเทพทั้งหลายต้องอาศัยภาคของอิสตรีเข้าช่วยต่อกรกับอสูร ในขณะที่เทวีก็ต้องอาศัยบุรุษหรือเหล่าเทพทั้งหลายจึงจะมีพลัง การเกื้อหนุนกันระหว่างชายและหญิงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะพิจารณาเทียบกับเรื่องพื้น ๆ เช่นในครอบครัวที่สามีภรรยาย่อมต้องปรึกษาหารือกันเพื่อดูแลและแก้ปัญหาต่าง ๆ หากผู้ชายต้องทำสิ่งนี้เพียงลำพังโดยขาดภรรยาที่ดีคอยช่วยเหลือ ชีวิตเขาย่อมพบกับความลำบาก และหากตีความในเชิงปรัชญาธรรม ความเอื้อประสานกันของสองเพศเป็นหนทางเพื่อพบสัจธรรม 

                จากตำนานมหิสาแสดงว่า มีแต่สตรีเพศเท่านั้นจึงจะสามารถพิชิตบุรุษ (มหิสา) และนำพาเขาสู่ทางแห่งความชอบธรรมได้ โดยที่สตรีเป็นพลังที่จะช่วยให้บุรุษต่อสู้กับความชั่วร้ายภายในตนเอง มหิสามีลักษณะเป็นควายอสูร ควายคือสัตว์เดรัจฉานที่เป็นตัวแทนของสิ่งชั่วร้ายหรือสัญชาติญาณดิบของมนุษย์ หากมนุษย์ควบคุมไม่ได้จิตวิญญาณก็ย่อมร้อนรนไม่มีความสงบสุข การต่อสู้กันของทุรคาเทวีกับมหิสา นอกจากจะเปรียบเสมือนการต่อสู้กันระหว่างความดีและความชั่วในภาพรวมแล้ว เทวียังหมายถึงปัญญาที่ช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากความมืดบอด (tamas) ชาวฮินดูผู้นับถือเทวีเชื่อว่า องค์เทวี (mother goddess) คือพลังที่จะช่วยให้มนุษย์พบกับความบริสุทธิ์ และความจริง (sattva) ได้

               โดยทั่วไปคำว่าเทวีของชาวฮินดูจะหมายถึงพระแม่ทุรคา แม้ว่าเทวีจะสามารถใช้ได้กับเทพเจ้าฝ่ายหญิงทั้งหลายก็ตาม คำที่ชาวฮินดูมักใช้เรียกเทวีของพวกเขา คือ พระแม่ หรือ มาตา มาตาจิ อัมมา เทวีก็เช่นเดียวกับองค์ศิวะที่มีลักษณะขัดแย้งหรือตรงข้ามอยู่คู่กันภายในพระองค์ กล่าวคือ แม้พระนางจะดูเย้ายวนด้วยพลังอิตถีเพศแต่พระนางก็ปลีกตนไปบำเพ็ญตบะ แม้พระนางจะดูอ่อนหวานแต่ก็กล้าหาญด้วยเช่นกัน และแม้พระนางจะงดงามแต่ก็โหดเหี้ยมในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้พระนางจึงได้ชื่อว่าทุรคาซึ่งแปลว่า "ผู้เข้าถึงได้ยาก"

           สำหรับคำสอนในหมู่สาวกแห่งเทวีถือว่าพระนางเป็นสัจภาวะเช่นกัน ความรู้เกี่ยวกับองค์เทวีคือความรู้เพื่อหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับความรู้ในพรหมัน แต่ในขณะเดียวกันความเชื่อในพระนางก็เป็นเหมือนกับดักล่อหรือมายาภาพที่มัดเราไว้ให้ห่างไกลจากความจริงแท้ด้วยเช่นกัน  พระนางจึงเป็นได้ทั้งมายาและความจริง พระนางสถิตอยู่ในหลายฐานะและรูปลักษณ์ ทั้งในสภาวะของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ในรูปของมนุษย์ผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นบทบาทของมารดา ภรรยา หญิงชรา หรือหญิงสาวแรกรุ่นก็ตาม แต่ภาพลักษณ์หลักที่ผู้คนจดจำได้ดีได้แก่ ปางพระแม่ทุรคาผู้สังหารมหิสาสูร ซึ่งแสดงออกโดยการนั่งอยู่บนหลังสิงโต มีสิบกรถืออาวุธครบมือ อยู่ในท่าใช้สามง่ามฉีกอกมหิสา หรือปางพระแม่กาลี ซึ่งแสดงออกด้วยภาพของความดุร้าย น่ากลัว ทั้งพระแม่อุมาหรือปราวตี พระแม่กาลี และเทวีทุรคา ได้รับการกล่าวถึงในมหาภารตะว่าอรชุนสวดอ้อนวอนขอพรจากพระนางให้ชนะศึกศัตรู

             การนับถือเทวีอย่างสูงมิได้เพิ่งมีขึ้นเมื่อเกิดลัทธิศักติในช่วงหลังยุคอุปนิษัท แต่ความสำคัญของเทวีมีมาแต่อารยธรรมอินเดียยุคต้นแล้ว ในฤคเวทปรากฏชื่อเทพี Prithivi (แปลว่าโลก) ถือเป็นมารดาของทุกสรรพสิ่ง หน้าที่ของเทพสตรีตั้งแต่โบราณได้แทรกอยู่ในทุกขั้นตอนของชีวิตมนุษย์ ลักษณะทางศิลปะของรูปปั้นเทพีแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย ที่สำคัญคือการมอบความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง และการสืบเผ่าพันธุ์ ด้วยเหตุนี้เทพีจึงได้รับคำกล่าวขานว่า ศักติ ซึ่งหมายถึงความสามารถ (Sakti = to be able or power of act) พระนางเป็นสัญลักษณ์ของพลังสูงสุดที่เผยออกมาสู่โลก ถ้าปราศจากเทวีเสียแล้ว พลังแห่งบุรุษเพศยิ่งใหญ่เพียงใดก็ไม่สามารถให้การกำเนิดได้ ด้วยเหตุนี้เทวีจึงมีความยิ่งใหญ่มาก

             ปัจจุบันอินเดียมีงานบูชาเทวีอย่างยิ่งใหญ่เรียกว่าเทศกาลนวราตรี (Nava-Ratri) จัดขึ้นเป็นเวลา ๑๐ วัน หรือ ๙ คืน เพื่อบูชาพระแม่ทุรคาและเทวีอีกทั้งหมด ๙ ปาง ซึ่งล้วนแต่เป็นภาคหนึ่งของพระแม่ปราวตี (the life phase of goddess pravati) 

(หมายเหตุ : นามของเทวีทั้ง ๙ จะแตกต่างไปในแต่ละท้องถิ่น)

มหิสาสุรมรรทินีหรือพระแม่ทุรคาปางปราบควายอสูร ประติมากรรมสำคัญ ณ ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ที่ได้สูญหายไป
ประติมากรรมพระแม่ทุรคา หรือมหิสาสุรมรรทินี หน้าปราสาทเขาน้อยสีชมพู
 

            สำหรับพื้นที่ของประเทศไทยนั้น ได้รับเอาความเชื่อและการนับถือเทวีของอินเดียมาตั้งแต่ยุคขอมเรืองอำนาจ ดังได้พบประติมากรรมรูปพระแม่ทุรคาที่ปราสาทขอมลัทธิไศวนิกายบางแห่ง เช่นที่ ปราสาทเขาน้อยสีชมพู จังหวัดสระแก้ว ได้พบรูปเคารพลอยตัวเต็มองค์ของ "พระแม่มหิสาสุรมรรทินี" สี่กร ปางประทานพร ประทับยืนเหนือหัวควายอสูร  (ของดั้งเดิมสูญหายไป ปัจจุบันได้ทำจำลองไว้ที่หน้าปราสาท) และความเชื่อนี้ก็ยังคงถ่ายทอดมาถึงผู้คนในทุกวันนี้ ผสมผสานกับความเป็นโลกาภิวัฒน์ ทำให้พิธีกรรมแบบอินเดียนำเข้า ส่งตรงมาสู่เมืองไทยได้ไม่ยาก จึงไม่แปลกที่จะเห็นพิธีบูชาพระแม่มหิสาสุรมรรทินีแบบอินเดียแท้ๆ ในเมืองไทยและมีคนไทยเข้าร่วมพิธีด้วยอย่างมากมายทุกปี




บทความโดย ดร.กฤติยา วโรดม สงวนลิขสิทธิ์ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สุริยวรรมัน : เรื่องจริงเป็นอย่างไร

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ : เคล็ดวิชาสร้างอาณาจักรเขมร (๑)

ถอดความนัยจากนิยายสู่ประวัติศาสตร์ "สุริยวรรมัน"

มหิธรปุระ

อินเดียที่หนึ่งในดวงใจ