เสาชิงช้า โล้ชิงช้า ความหมาย และความสัมพันธ์กับการสร้างกรุง

เสาชิงช้ายามค่ำคืน

แทบทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่า ย่านเสาชิงช้า เป็นแหล่งให้เช่าบูชาพระพุทธรูป และขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นย่านที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ เอาเป็นว่าถ้าจะมาย่านนี้ ก็ต้องเตรียมล้างท้องกันมาก่อน ...ที่นี่ยังเป็นจุดเช็คอินถ่ายรูปยอดนิยมอีกด้วย ในเวลาช่วงเย็นถึงค่ำจะมีผู้คนมากหน้าหลายตา มาเก็บภาพสวย ๆ ที่มีฉากหลังเป็นเสาชิงข้าตั้งตระหง่านคู่กับพระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวรารามที่สะท้อนแสงไฟระยิบระยับจับตา  คลิปหรือรีวิวพากินพาเที่ยวแถวเสาชิงช้า ก็มีอยู่ไม่น้อยแล้ว เที่ยวนี้จึงขอละเรื่องนั้นไว้ แต่จะพาไปรู้จักเสาชิงช้ากันแบบลึกซึ้ง ในเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่จะทำให้คุณอินจนอยากจะไปยืนแหงนคอมองเสาชิงช้าอย่างจริงๆ จังๆ สักครั้ง

เสาชิงช้า สถาปัตยกรรมโบราณ สะดือเมืองกรุงเทพมหานคร

เสาชิงช้าคู่แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ ๒ ปี เวลานั้นมีพระครูพราหมร์นามว่าสิทธิชัย (หรือกระต่าย) เป็นพราหมณ์พฤฒิบาศ ตำแหน่งหลวงสิทธิชัยบดี ชาวเมืองสุโขทัย ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่าในการประกอบพระราชพิธีตรียัมปวายอันมีมาแต่โบราณนั้น จำเป็นต้องมีการโล้ชิงช้า

เสาชิงช้าจึงได้ถูกสร้างขึ้นตรงกึ่งกลางพระนคร เมื่อวันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๘ เม.ย. พ.ศ. ๒๓๒๗  และใช้โล้ชิงช้าจริงๆ ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ พอหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อพ.ศ. ๒๔๗๗ แต่กระนั้น เสาชิงช้าก็ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๒


เสาชิงช้าที่มีฉากเป็นวัดสุทัศน์เทพวราราม


แสวงหาไม้สักทองทั้งต้นมาทำเสาชิงช้า !!

เสาคู่ที่เห็นในปัจจุบันไม่ใช่ต้นดั้งเดิมเริ่มสร้าง แต่เป็นต้นที่ได้รับการบูรณะเปลี่ยนใหม่ เริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ที่เสาชิงช้าคู่เดิมพุกร่อน กรุงเทพมหานครจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นหาทางบูรณะ ผลคือต้องเปลี่ยนเสาใหม่ โดยหาไม้สักทองทั้งต้นมาทดแทน เพื่อให้ได้เกณฑ์มงคลตามขนบประเพณีโบราณ หากหาไม้สักทองไม่ได้ ก็จะต้องใช้ไม้ตะเคียนทองแทน ไม้ที่จะนำมาใช้ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนต้นไม่ต่ำกว่า ๖๐ ซม. และที่ปลายเสาไม่ต่ำกว่า ๔๐ ซม. (นั่นคือไม้ก่อนตัดแต่งควรมีความสูง ๒๕ เมตร โคนต้น ๘๐ ซม.) และจะต้องเป็นไม้ที่มีลำต้นยาวตรงไม่มีตำหนิ จำนวน ๖ ต้น (การใช้ไม้ท่อนเดียวทั้งต้น นอกจากจะเป็นมงคลแล้วยังทำให้เกิดความแข็งแรงทนทาน อยู่ได้นานเป็นร้อยปี)

ในที่สุดก็ค้นหาไม้ที่มีคุณลักษณะตามเกณฑ์ได้ที่จังหวัดแพร่

  • ต้นหลักที่ ๑ พบที่ ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย ในพื้นที่ราชพัสดุ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๑๔ ซม. ความสูงมากกว่า ๔๐ เมตร อายุกว่า ๑๐๐ ปี
  • ต้นหลักที่ ๒ พบที่ ตำบลไทรย้อย เช่นเดียวกัน ในเขตรับผิดชอบของแขวงการทางแพร่ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๑๒ ซม. สูงจากโคนถึงยอดกว่า ๓๐ เมตร
  • ต้นรองที่ ๓ – ๖ สำหรับทำเสาตะเกียบ ชาวบ้านห้วยไร่ได้คัดเลือกไว้ให้โดยตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยไร่ อำเภอเด่นชัย เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยมากกว่า ๑๐๐ ซม. ความสูงจากโคนถึงยอดมากกว่า ๓๐ เมตร

การบูรณะใช้เวลาถึง ๑ ปี ๕ เดือน จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ กรุงเทพมหานคร ได้ทำพิธีบวงสรวงเสาชิงช้าใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เสาต้นปัจจุบันมีความสูง ๒๑.๕ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐.๕ เมตร

(ที่มา : กองจัดรูปที่ดินและปรับปรุงฟื้นฟูเมือง สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร)

การโล้ชิงช้าในอดีต


เสาชิงช้ามีไว้โล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย

เสาชิงช้ามีไว้โล้ชิงช้า ที่จริงต้องพูดว่า “พิธีโล้ชิงช้า” เพราะถือเป็นประเพณีปฏิบัติคู่กับพระราชพิธีตรียัมปวายมาแต่โบราณ พระราชพิธีนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันขึ้น ๗ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย รวม ๑๐ วัน ส่วนพิธีโล้ชิงช้าจะจัดขึ้นในวันขึ้น ๗ ค่ำตอนเช้า และ วันขึ้น ๙ ค่ำ ตอนเย็น ที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกกันเคยปากว่า "๗ ค่ำถีบเช้า ๙ ค่ำถีบเย็น" จุดประสงค์ตามนัยของศาสนาก็เพื่อ เฉลิมฉลองต้อนรับพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมโลกเป็นเวลา ๑๐ วัน ส่วนจุดประสงค์ตามนัยของวิถีชาวบ้านก็คือ เฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ขอบคุณพระเจ้า และสนุกสนานกัน ถือเป็นการฉลองปีใหม่ด้วย ... ไม่ต้องแปลกใจไป !! แรกเริ่มเดิมทีไทยเราถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นเราจึงเรียกว่าเดือนอ้ายหมายถึงเดือนแรกของปี (ปัจจุบันตรงกับเดือนธันวาคม) ต่อมาได้เปลี่ยนจากเดือนอ้ายเป็นเดือนยี่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า

ได้เปลี่ยนมาตั้งแต่สมัยกรุงเก่าแล้ว เพราะเดือนอ้ายพึ่งเป็นเวลาน้ำลด ถนนหนทางเป็นน้ำเป็นโคลนทั่ว ย้ายมาเดือนยี่พอให้ถนนแห้ง
ด้วยเหตุนี้พระราชพิธีตรียัมปวาย และพิธีโล้ชิงช้าจึงจัดขึ้นในเดือนยี่มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงเวลาที่ถูกยกเลิกไป

วิธีโล้ชิงช้า  

         วิธีโล้ชิงข้านั้น จะใช้ไม้กระดานขึงโยงจากคานบนเสาด้วยเชือก ๘ เส้น  เชือกทั้ง ๘ เส้นนี้ นอกจากจะมีหน้าที่ขึงโยงแล้ว ยังเป็นที่จับยึดกันหล่นให้กับนาลิวันอีกด้วย 

นาลิวันก็คือผู้ที่มีหน้าที่ขึ้นไปโล้ชิงช้า คัดจากชายหนุ่มร่างกายแข็งแรง ขึ้นทำการโล้กระดานละ ๔ คน มีทั้งหมด ๓ กระดานหรือ ๓ ชุด เรียกว่ากระดานเอก กระดานโท และกระดานตรี แต่ละกระดานมีเงินรางวัลลดหลั่นกันไปคือ ๑๒ บาท ๑๐ บาท และ ๘ บาท นาลิวันจะนุ่งผ้าลาย ไม่สวมเสื้อ และสวมหมวกรูปหัวนาค (บอกเล่าโดย กาญจนาคพันธุ์ ที่ได้ตามดูการโล้ชิงช้าตั้งแต่วัยเด็กถึงรุ่นหนุ่ม ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ถึง รัชกาลที่ ๖) 

เมื่อเริ่มการโล้ นาลิวันทั้ง ๔ บนกระดานชิงช้า จะหันหน้าไปทางเสาที่เงินผูกอยู่ (ทิศตะวันตก) ถวายบังคม ๓ ครั้ง เสร็จแล้วลุกขึ้นยืนจับเชือก นาลิวันที่อยู่ด้านล่างก็จะเริ่มดึงเชือกช่วยส่งแรงไกวชิงช้า พร้อมๆ กับที่ ๔ คน บนชิงช้าก็จะโยกตัวเร่งจังหวะเสริมให้กระดานแกว่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละกระดานจะมีคนอยู่ท้าย ๑ อยู่หัว ๑ ตรงกลางอีก ๒ คนตรงกลางนี้ยืนเอามือคล้องเชือกแล้วพนมมือเข้าหากัน คนที่ยืนอยู่หัวกระดานมีหน้าที่ใช้ปากคาบถุงเงินที่ผูกไว้บนหัวเสาที่ปักห่างออกไประยะที่โล้ชิงช้าถึง ส่วนคนท้ายกระดานนี้สำคัญในฐานะคนคัดท้ายที่มีพลิกแพลงโล้ให้กระดานเลยถุงเงินไปบ้าง เรียกเสียงเฮสร้างความตื่นเต้นให้คนดู

กรณีพราหมณ์นาลิวันที่โล้ชิงช้านี้ ผู้เขียนคิดว่าอาจจะไม่ได้เป็นพราหมณ์แท้ก็ได้ แต่เป็นผู้ที่ใจกล้าและผ่านการเข้าพิธีตามตำราพราหมณ์เพื่อเตรียมเป็นนาลิวัน คล้ายๆ กับผู้ที่จะร่วมพิธีลุยไฟในเทศกาลกินเจก็ต้องเป็นผู้มีศรัทธาหรือเป็นลูกศิษย์ของศาลเจ้านั้นๆ ผ่านการถือศีลและพิธีกรรมต่างๆ ก่อนเข้าร่วมการลุยไฟ ที่คิดเช่นนี้เพราะ มีพระวินิจฉัยของกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า นาลิวันอาจจะเป็นพราหมณ์หรือไม่ก็ได้ และยังประเมินจากที่ว่า การโล้ชิงช้านั้นต้องสร้างความตื่นเต้นผสมความตลกให้เกิดความสนุกสนานกับคนดูด้วย จึงไม่น่าจะเหมาะกับจริยาวัตรของผู้เป็นพราหมณ์


ขอบคุณวีดีโอภาพพิธีโล้ชิงช้า หาดูยาก จาก เพจเรื่องเล่า ภาพเก่าในอดีต
นาทีที่ ๐.๓๘ เห็นนาลิวันกำลังไต่พะอง (ติดไว้ด้านข้างตรงเสาตะเกียบ) เพื่อขึ้นไปบนกระดานชิงช้า
นาที ๐.๕๐ แสดงการโล้ชิงช้าอย่างโลดโผน วาดเสียวว่าจะตก
นาที ๑.๐๙ การแสดงรำเสนง สาดน้ำ

พระยายืนชิงข้า แทนองค์พระอิศวรเจ้า

ในพิธีโล้ชิงช้านี้ ยังมีตำแหน่งสำคัญเรียกว่า “พระยายืนชิงช้า” แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า "พระยาถีบชิงช้า" 

โดยหลักแล้วพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ทรงตำแหน่งนี้ เสมือนเป็นองค์พระอิศวรประทับเป็นประธานในพิธี ดังที่มีบันทึกคำพูดของพราหมณ์ต่อพระยายืนชิงช้าผู้แทนองค์กษัตริย์ ในเวลาที่นำข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน ไปเชิญพระยายืนชิงช้าออกจากบ้านมาเข้าขบวนแห่ ว่า ขอพระผู้เปนเจ้าเข้าสิงสู่เจ้าคุณ” (จากหนังสือ COURT ข่าวราชการ  หน้า ๓๒๗ )  ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้กับเสนาบดีผู้แทนพระองค์ ที่ในภายหลังกษัตริย์ทรงมอบหมายให้เสนาบดีระดับสูงทำหน้าที่นี้แทน แต่ก็ต้องมีริ้วขบวนสมพระเกียรติเพราะเป็นผู้แทนองค์กษัตริย์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พิธีนี้ต้องยกเลิกไปในที่สุด

กาญจนาคพันธุ์ ท่านได้เล่าไว้ว่า ยิ่งพระยายืนชิงช้ามีตำแหน่งสูง มีกรมกองในสังกัดมาก พ่อค้าประชาชนขึ้นมาก กระบวนแห่ก็จะยิ่งใหญ่โตยืดยาว นอกจากกระบวนอิสริยยศของหลวงแล้ว ก็มีกระบวนเทวดา และอื่นๆ นำและตาม เช่น กระบวนแตรวง กระบวนลิเก กระบวนละคร กระบวนงิ้ว กระบวนเบ็ดเตล็ด บ้องตันแทงเสือ เชิดสิงโต ฯลฯ ครั้งหนึ่งพระยายืนชิงช้าเป็นเจ้ากระทรวงธรรมการ ท่านเป็นนักเรียนก็ต้องแต่งตัวโก้ไปร่วมในกระบวนแห่ ซึ่งมีคณะนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ร่วมเดินด้วย

เห็นได้ชัดว่า พิธีโล้ชิงช้านี้ เป็นงานรื่นเริงประจำปีของประชาชนเลยทีเดียว

หน้าที่ของพระยายืนชิงช้าที่เป็นประธานในพิธีนั้น แม้จะนั่งชมเฉยๆ แต่ก็ไม่ได้สบายหรอกนะ ออกจะลำบากเสียด้วยซ้ำ คือหลังจากพระยายืนชิงช้าเข้าไปในโรงชมรม (ปะรำพิธี) และนั่งที่ราวไม้ไผ่กลางชมรมแล้ว ก็จะยกเท้าข้างหนึ่งพาดที่บริเวณเข่าอีกข้างหนึ่ง (เหมือนท่าไขว่ห้าง) ให้เท้าข้างหนึ่งยันพื้นไว้ (เป็นท่าเดียวกับในตำนานที่พระอิศวรทรงยืนด้วยพระบาทข้างเดียวขณะโล้ชิงช้าทดสอบความแข็งแรงของโลกมนุษย์) โดยมีข้อกำหนดว่าพระยายืนชิงช้าจะต้องนั่งท่านี้ไปจนกว่านาลิวันจะโล้ชิงช้าเสร็จ (ในเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าหากพระยายืนชิงช้าทำเท้าตกลงพื้นทั้งสองข้าง ก็จะถูกปรับของที่ได้รับพระราชจากกษัตริย์ให้ตกเป็นของบรรดาพราหมณ์ผู้ประกอบพิธี) พระยายืนชิงช้าที่พลาดปล่อยเท้าขวาตกดิน มีเหมือนกัน ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ชื่อ เจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) แต่ว่าท่านจะโดนโทษปรับอย่างไรหรือไม่ ไม่ปรากฏ  

เรื่องพระยายืนชิงช้าทำตีนตกนี้ อาจมีผู้ตั้งข้อสังเกตผูกกับเหตุการณ์ต่อมาก็ได้ เพราะหลังจากนั้นอีก ๑๑ เดือน ในพ.ศ. ๒๓๖๐ ก็เกิดฟ้าผ่าโดนเสาชิงช้า แต่ก็ไม่ถึงกับเสียหายมากนัก

สมัยอยุธยาผู้ที่จะทำหน้าที่พระยายืนชิงช้า คือเกษตราธิบดีในตำแหน่งพระยาพลเทพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงมอบหมายให้เสนาบดีระดับพระยาพานทองทำหน้าที่พระยายืนชิงช้าสลับสับเปลี่ยนกันไปทุกปี นัยว่าเพื่อไม่ให้ภาระค่าใช้จ่ายตกหนักแก่เสนาบดีกรมกองเดียว และยังเพื่อทรงใช้สำรวจดูกำลังพลของกรมกองนั้น ซึ่งจะต้องเกณฑ์มาในขบวนแห่พระยายืนชิงช้าด้วย จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ผู้ที่ทำหน้าที่พระยายืนชิงช้าท่านสุดท้ายคือ มหาอำมาตย์ตรีพระยาปฏิพัทธภูบาล (คออยู่เหล ณ ระนอง) ในงานพระราชพิธีตรียัมปวาย ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๗๔

ความหมายของการโล้ชิงช้า

พิธีโล้ชิงช้า เป็นส่วนประกอบในพระราชพิธีตรียัมปวาย ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชพิธี ๑๒ เดือน อันเป็นราชประเพณีที่สืบเนื่องจากคติพราหมณ์ตามตำนานที่ว่า เมื่อพระพรหมทรงสร้างโลกแล้วเสร็จ ก็ส่งต่อให้พระอิศวรไปดูแล (หมายถึงพระศิวะ ตามคติของพรามหณ์ราชสำนักแต่โบราณที่นับถือไศวนิกาย) พระอิศวรทรงเกรงว่าโลกจะไม่แข็งแรงพอ จึงต้องการทดสอบก่อนจะรับมอบงาน ทำนองนั้น โดยเสด็จมาประทับบนโลก ด้วยพระบาทเพียงข้างเดียว เพราะทรงกลัวว่าลงมาทั้งองค์แล้วโลกจะแตกไปเสียก่อน ทรงมอบหมายให้พญานาคยื้อยุดขุนเขาสองฝั่งมหาสมุทรอย่างเต็มกำลัง ก็ปรากฏว่าโลกก็ยังแข็งแรงดีอยู่ พระอิศวรจึงทรงรับงาน ว่าอย่างนั้น ฝ่ายพญานาคก็ดีใจยกใหญ่ พากันลงเล่นน้ำสนุกสนาน ด้วยเหตุนี้ ในพิธีโล้ชิงช้าจึงมีประเพณีการรำเสนง สาดน้ำกันอย่างสนุกสนานด้วย 

อธิบายคำว่า เสนง สักเล็กน้อย เพราะอาจเข้าใจไปว่า เสนงคือการสาดน้ำตามลักษณะท่าร่ายรำ ที่จริงเสนง หรือ เขนง คือ เขาวัว เขาควาย (ในพิธีโล้ชิงช้าย่อมใช้เขาวัว พาหนะของพระศิวะ) การรำเสนง จะมีขันสาครใบใหญ่ใส่น้ำเต็ม ตั้งไว้หน้าชมรมหรือปะรำพิธีที่พระยายืนชิงช้านั่ง นาลิวันทั้ง ๑๒ คนที่ขึ้นโล้ชิงช้า จะมายืนล้อมรอบขันสาครเว้นระยะเท่าๆ กัน ถือเขนงไว้ จากนั้นก้าวเท้าเป็นจังหวะเหมือนการร่ายรำ จังหวะที่เดินเข้าไปที่ขัน ก็เอาเขนงจ้วงน้ำในขันสาดลงดิน แล้วก้าวออกมาเป็นจังหวะ แล้วก้าวเข้าไปอีกทำแบบเดิม โดยเขยิบคืบหน้าวนไปรอบๆ ขันด้วย ทำอย่างนี้จนครบ ๓ รอบ (คลิปวีดีโอ ข้างบน นาทีที่ ๑.๐๙) การรำเขนงนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับตำนานว่า นาคดีใจทีโลกแข็งแรงดี เลยลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานแล้ว ยังสื่อไปถึงคำว่า "นาคให้น้ำ" เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ที่เรามักคุ้นกันตามความเชื่อทั่วไปของไทยเรา

หลังจากการทดสอบโลกครั้งแรกแล้ว จากนั้นพระอิศวรก็เสด็จมาเยี่ยมโลกเป็นประจำทุกปี ชาวโลกก็จัดพิธีตรียัมปวายรับเสด็จพระองค์ทุกปีเช่นกัน เมื่อพระอิศวรเจ้าเสด็จมา ก็ย่อมต้องมีเทพองค์อื่น ตามเสด็จหรือมาต้อนรับด้วย เทพเจ้าองค์สำคัญแต่โบราณของพราหมณ์ที่ต้องร่วมในพิธีได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระแม่ธรณี และพระแม่คงคา สอดคล้องกับการโล้ชิงช้า ที่เลียนแบบวงโคจรของพระอาทิตย์ ที่มาคู่กับพระจันทร์  มีพิธีสาดน้ำ (พระแม่คงคา) ลงดิน (พระแม่ธรณี) ให้เกิดน้ำท่าอุดม ดินชุ่มชื้นก่อเกิดพืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์

 ในพิธีตรียัมปวาย พราหมณ์ใช้ไม้กระดานแทนเทพเจ้าเหล่านี้ โดยจะนำไม้กระดานปักลงในหลุมให้หันหน้าเข้าหาพระยายืนชิงช้า ที่เปรียบเสมือนองค์อิศวรประธาน ยุคปัจจุบันแม้ไม่มีพิธีโล้ชิงช้าแล้ว แต่พระราชพิธีตรียัมปวายยังมีอยู่ พราหมณ์ราชสำนักกระทำทุกปีในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ และมีการเชิญนางกระดานลงหลุมด้วย เมื่อจบพิธีก็ทำการเชิญนางกระดานขึ้นจากหลุม นางกระดานของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์มี ๓ แผ่น แผ่นแรกทำเป็นรูปพระอาทิตย์ กับพระจันทร์ แผ่นที่สองทำเป็นรูปพระแม่ธรณี และแผ่นที่สามเป็นรูปพระแม่คงคา (สำหรับท่านที่สนใจขั้นตอนพระราชพิธีตรียัมปวายโดยละเอียดแนะนำอ่านที่ http://www.devasthan.org)

พราหมณ์เชิญนางกระดานลงหลุม ส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย
พิธีเชิญนางกระดานลงหลุม ที่ทำในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ปัจจุบันนี้
ขอบคุณภาพเป็นวิทยาทาน จากเฟสบุ๊ค เทวสถานสำหรับพระนคร โบสถ์พราหมณ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า การโล้ชิงช้าจะโล้แบบหันไม้กระดานแนวยาวแกว่งไปทาง ทิศตะวันออก-ตะวันตก เป็นการเลียนแบบการเดินทางของพระสุริยเทพ เรื่องนี้ ควาริช เวลล์ ผู้สนใจทางด้านบูรพคดีชาวอังกฤษ ได้เสนอว่า คัมภีร์พระเวทบางส่วน ได้อธิบายพระอาทิตย์ว่ามีลักษณะเหมือนกับชิงช้าสีทองที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า  เขาเสนอว่า ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการโล้ชิงช้าของชาวอินเดียมีร่องรอยมาจากคติการบูชาพระสุริยเทพ แต่ในยุคที่พระสุริยะเทพคลายความสำคัญลง พระองค์จึงถูกแทนที่ด้วยพระอิศวร ซึ่งชาวอินเดียเชื่อว่า พระอิศวรนั้นเป็นผู้ทำลายเพื่อสร้างขึ้นใหม่ตามคติตรีมูรติ เปรียบได้กับดวงอาทิตย์ที่ขึ้นและตกลงในแต่ละวัน (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, ๑๑๒ - ๑๑๓)

ความเกี่ยวข้องของการโล้ชิงช้ากับวงโคจรของดวงอาทิตย์ ยังสามารถอธิบายได้จาก พิธีกรรมอื่นที่พราหมณ์เตรียมการรับพระอิศวรนำมาก่อนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน (เดือน ๑๒) หรือบางทีอาจเลื่อมขึ้นไปถึงเดือนตุลาคม (เดือน ๑๑ ) ด้วย ตั้งแต่ช่วงเวลานี้ พระอาทิตย์จะโคจรโค้งลงทางใต้เรื่อยๆ เรียกวันที่ดวงอาทิตย์เริ่มโคจรโค้งลงใต้ว่า วันศารทวิษุวัติ (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) จะโคจรลงแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงราวปลายเดือนอ้ายก็ถึงจุดวกกลับ แล้วเริ่มโคจรโค้งขึ้นเหนือ เรียกวันที่ดวงอาทิตย์เริ่มโคจรโค้งขึ้นเหนือว่า วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) และจะโคจรโค้งขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงวันวสันต์วิษุวัติ (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) ซึ่งตรงกับช่วงเดือน ๔ หรือเดือน ๕ หลังจากวันนี้ ก็จะเริ่มโคจรโค้งลงใต้อีก ลักษณะเดินเป็นครึ่งวงกลมเวียนไป 

นึกภาพตามแล้ว ก็คงจะมองออกว่ามีลักษณะเหมือนทิศทางการแกว่งไกวของชิงช้า ณ จุดต่ำสุดแล้วเริ่มจะโคจรขึ้นเหนือของดวงอาทิตย์ในเดือนอ้ายนั้น คนโบราณถือว่ามีความสำคัญ นับเป็นจุดเริ่มต้นปีใหม่และเหมาะที่จะทำพิธีเฉลิมฉลองกันนั่นเอง

(หมายเหตุ : ที่บอกว่า ดวงอาทิตย์โคจรลงใต้ ขึ้นเหนือ ขอให้เข้าใจว่า เป็นมุมมองจากสายตาของผู้คนโบราณ ที่มองจากพื้นโลกเห็นดวงอาทิตย์คล้อยไปทางทิศดังกล่าวในแต่ละเดือน)

หากจะกล่าวโดยสรุป การโล้ชิงช้า คือสัญญลักษณ์ให้นึกถึงองค์ศิวะ มหาเทพผู้ทำลายล้างเพื่อให้เกิดการเริ่มต้นใหม่ มีการแกว่งเหมือนวงโคจรของดวงอาทิตย์ขึ้นและตกหมุนเวียนไป ทั้งสิ้นล้วนเป็นสัญญาณของโอกาสที่มนุษย์จะได้เริ่มต้นอีกครั้ง จึงเป็นความหวัง เป็นพลังให้มวลมนุษย์ฝ่าฟันต่อไป 



ขอบคุณวีดีโอ โดย สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
นาทีที่ ๑.๐๑ ภาพพระยายืนชิงช้านั่งวางขาข้างเดียวบนพื้น
นาที ๑.๕๐ ภาพการโล้ชิงช้าอย่างวาดเสียว

พิธีโล้ชิงช้าและพระราชพิธีตรียัมปวาย ความมั่นคงของโลกและราชบัลลังก์

ยังมีตำนานที่โยงใยกับการโล้ชิงช้าอีกหลายเวอร์ชั่น แต่เวอร์ชั่นที่พระอิศวรเสด็จมาทดสอบความแข็งแกร่งและเยี่ยมโลกนั้น มีเนื้อหาตรงกับการทำพิธีของพราหมณ์ราชสำนัก และสะท้อนความคิดด้านวิถีชีวิต สังคม และการเมืองได้อย่างกลมกลืนมากที่สุด

กษัตริย์คือเทวราชา อาจเสด็จมาเป็นประธานเอง สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชน แม้หากไม่เสด็จเองก็มอบหมายผู้แทนพระองค์ ซึ่งต้องจัดขบวนแห่อย่างสมพระเกียรติ ทรงพระราชทานเงินรางวัลและความรื่นเริงให้กับประชาชน นี่คือการสร้างความมั่นคงให้อาณาจักร หรือหากจะวิเคราะห์พระกุศโลบายของรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงโปรดให้ผู้ทำหน้าที่พระยายืนชิงช้าสลับสับเปลี่ยนกันไป นัยหนึ่งเพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายตกหนักแก่กรมกองใด อีกนัยหนึ่งก็เพื่อตรวจสอบกำลังพล และป้องกันไม่ให้อำนาจบารมีในฐานะผู้แทนองค์กษัตริย์ตกอยู่แก่เสนาบดีคนใดคนหนึ่ง นี่ก็สอดคล้องกับการตรวจสอบความมั่นคงของบ้านเมืองและราชบัลลังก์ ไม่ต่างจากพระอิศวรทดสอบความแข็งแกร่งของโลกเช่นกัน

เมื่อถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระราชพิธีนี้ถูกมองว่าสิ้นเปลือง พระราชอำนาจของกษัตริย์ถูกลดทอนลง และยังถูกมองว่าไม่เป็นอารยะเมื่อเทียบกับชาติตะวันตก พิธีโล้ชิงช้าจึงถูกยกเลิกไป แต่พระราชพิธีตรียัมปวาย ยังมีอยู่ ในรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะกับยุคสมัย ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่อลังการเหมือนในอดีต แต่พราหมณ์ราชสำนักก็ยังคงดำเนินพิธีให้ครบถ้วนตามหลักของศาสนาให้มากที่สุด และกราบบังคมทูลขอรับเอาเทวรูปจากพระมหากษัตริย์มาเข้าร่วมพิธี ทดแทนการเสด็จมาเป็นประธานด้วยพระองค์เองอย่างในอดีต ทั้งหมดเป็นการทำพิธีอย่างเงียบๆ ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ โดยปรกติจะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมพิธีด้วยได้ ผู้ร่วมพิธีมักรอคอยรับเอาข้าวตอก ดอกไม้ ผลไม้ ในพิธีไปบูชาและรับประทานเพื่อเป็นศิริมงคล และหากโชคดีอาจได้รับสีผึ้งปากหงษ์ ที่เป็นของต้องการมากในหมู่ขุนนางและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงแล้ว

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามกำหนดการพระราชพิธีได้ทางเฟสบุ๊คของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในช่วงเวลาใกล้ถึงงานพระราชพิธี

แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เสาชิงช้า

มาเสาชิงช้าแล้ว ไม่ควรพลาดแวะเที่ยวสถานที่ใกล้เคียงด้วย ที่แนะนำมานี้ล้วนแต่เดินเท้าถึงกันหมด แต่ที่สำคัญคือต้องวางแผนดูว่าจะไปที่ไหนเวลาไหน ที่จะไม่ท้าทายความร้อนของพระสุริยเทพให้มากนัก

๑) ภูเขาทอง ขึ้นตอนเช้าหรือเย็นแดดร่มลมตก จะเหมาะที่สุด เปิด ๗.๐๐-๑๙.๐๐ น. สถานที่นี้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบจากกบิลพัสตุ์ในอินเดีย มีความเชื่อว่าหากต้องการขายที่ดิน บ้าน คอนโด ให้นำเอาโฉนดไปกราบขอพรที่นี่ ได้ผลสำเร็จดี

๒) วัดราชนัดดา สร้างสมัยรัชกาลที่ ๓ มีโลหะปราสาท ที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก (โลหะปราสาทในโลกนี้มีบันทึกไว้ว่าสร้างขึ้นในที่ ๓ แห่งคือ อินเดีย ศรีลังกา และไทย)

๓) เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สร้างตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ มีเทวรูปพระศิวะ องค์ที่ผู้คนกราบไหว้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เทวรูปพระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ และเทวรูปเก่าแก่งดงามอีกหลายองค์อายุตั้งแต่ พศต. ๑๑ จนถึงสมัยอยุธยา ปิด ๑๖.๐๐ น.

๔) วัดสุทัศน์เทพวราราม นอกจากจะเข้าไปชมพระอุโบสถที่งดงามแล้ว อย่าลืมไปเดินดูสัตตมหาสถานจำลองภายในวัดด้วยนะ การสร้างสัตตมหาสถานจำลองในประเทศไทยมีเพียง ๓ แห่ง อีกสองแห่งคือ วัดเจดีย์เจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ และวัดพระธาตุบังพวน จ.หนองคาย

๕) วัดเทพมณเฑียร ตั้งอยู่ด้านข้างวัดสุทัศน์ฝั่งทิศตะวันออก ด้านหน้าเป็นโรงเรียนภารตะวิทยา ขึ้นไปชั้นบนจึงจะเป็นเทวาลัย ประดิษฐานเทวรูปงดงามทำจากหินอ่อนจากเมืองชัยปุระ สถานที่นี้เคยถูกกล่าวขานถึงปาฎิหารย์เทวรูปดื่มนมได้

๖) ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าเก่าแก่ที่ได้รับการเคารพนับถือในหมู่ชาวจีนมาอย่างยาวนาน

๗) นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ อยู่ติดกับวัดราชนัดดา ริมถนนราชดำเนิน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวของกรุงรัตนโกสินทร์ในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่เริ่มสร้างพระนคร ได้อย่างน่าสนใจสุดๆ บางช่วงก็แฝงความตื่นเต้นเร้าใจ บางตอนก็ถึงกับน้ำตาซึม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งที่คุณควรได้เข้าไปชมสักครั้ง นิทรรศการมี ๒ ตอน ตอนละ ๒ ชม. ใช้เวลารวม ๔ ชั่วโมง มีพักครึ่ง แนะนำให้ชมครบทั้งสองตอน รอบเข้าชมมีทุก ๒๐ นาที เปิดเวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ปิดทุกวันจันทร์ ควรตรวจสอบเวลาของรอบไปก่อนจะดีที่สุด

๘) ป้อมมหากาฬ ป้อมประจำพระนครด้านตะวันออก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๒๖ สมัยรัชกาลที่ ๑  เป็น ๑ ใน ๑๔ ป้อมที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันพระนคร ปัจจุบันป้อมมหากาฬเป็น ๑ ใน ๒ ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่กรุงเทพมหานครได้ปรับภูมิทัศน์ภายในป้อมให้เป็นสวนสาธารณะ ปลูกดอกไม้สวยงาม

หมายเหตุ : คุณอาจจะไม่สามารถเที่ยวได้ครบทุกแห่งในหนึ่งวัน เพราะทุกที่ล้วนมีความงามและเรื่องราวที่คุณอยากจะสัมผัสนานๆ ทั้งนั้น

แนะนำสถานที่จอดรถใกล้เสาชิงช้า

          การเดินทางมาเที่ยวย่านนี้ หากใช้รถสาธารณะได้จะสะดวกมาก แต่หากต้องการขับรถมาแล้วล่ะก็ แนะนำที่จอดรถใกล้ๆ ให้ดังนี้

๑)  วัดราชนัดดา ค่าจอด ๔๐ บาท ทั้งวัน แต่ต้องนำรถออกก่อน ๑๙.๐๐ น.

๒)  ศาลเจ้าพ่อเสือ ๓๐ บาท/ชม.

๓) วัดบวรนิเวศน์ ค่าจอด ๒๐ บาท/ชม. อาจจะเดินไกลสักหน่อย แต่ถ้าเป็นเวลาเช้าหรือเย็นที่แดดไม่ร้อน ก็เดินเล่นได้สบายเลย หรือจะนั่งรถเมล์สักป้ายสองป้าย ก็ไม่ลำบาก

๔) หาที่จอดรอบๆ วัดสุทัศน์เทพวราราม แต่ก็มีโอกาสได้น้อยมาก


บทความเรียบเรียงโดย : ดร.กฤติยา วโรดม สงวนลิขสิทธิ์ห้ามคัดลอก

แหล่งอ้างอิง :

กาญจนาคพันธุ์, "โล้ชิงช้า", วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓ 

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์, พระราชพิธีตรียัมปวาย

หนังสือ Court ข่าวราชการ เล่ม ๑ ตอนการแห่พระยายืนชิงช้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สุริยวรรมัน : เรื่องจริงเป็นอย่างไร

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ : เคล็ดวิชาสร้างอาณาจักรเขมร (๑)

ถอดความนัยจากนิยายสู่ประวัติศาสตร์ "สุริยวรรมัน"

มหิธรปุระ

อินเดียที่หนึ่งในดวงใจ