พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ : เคล็ดวิชาเพื่ออาณาจักรดำรงอยู่จนสิ้นกัลปาวสาน (๒)
ในตอนที่แล้วได้เกริ่นถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ( พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๒) ผู้ทรงกอบกู้อาณาจักรขอมจากการยึดครองของจาม และสถาปนาเมืองพระนครที่ทรุดโทรมขึ้นใหม่ ด้วยเคล็ดวิชาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ทรงใช้ทั้งคติของพราหมณ์และพุทธ เพื่อให้อาณาจักรของพระองค์อยู่ยืนยง ศาสตร์ที่ว่านี้ แม้ภายหลังจะถูกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ทำลายลง แต่พระนามของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก็ยังอยู่ยงเป็นอมตะอย่างแท้จริง จึงอดคิดไม่ได้ว่า หากเคล็ดวิชาเหล่านั้นมิได้ถูกลบล้างไป ไม่แน่ว่าประวัติศาสตร์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เรารู้จักกัน
ในตอนที่แล้วได้เกริ่นถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ( พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๒) ผู้ทรงกอบกู้อาณาจักรขอมจากการยึดครองของจาม และสถาปนาเมืองพระนครที่ทรุดโทรมขึ้นใหม่ ด้วยเคล็ดวิชาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ทรงใช้ทั้งคติของพราหมณ์และพุทธ เพื่อให้อาณาจักรของพระองค์อยู่ยืนยง ศาสตร์ที่ว่านี้ แม้ภายหลังจะถูกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ทำลายลง แต่พระนามของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก็ยังอยู่ยงเป็นอมตะอย่างแท้จริง จึงอดคิดไม่ได้ว่า หากเคล็ดวิชาเหล่านั้นมิได้ถูกลบล้างไป ไม่แน่ว่าประวัติศาสตร์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เรารู้จักกัน
ครั้งก่อนได้เล่าถึง การสร้างเมืองชัยศรีและปราสาทพระขรรค์อุทิศแด่พระบิดาและกษัตริย์พระองค์ก่อน และเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ชัยชนะเหนือจาม ในตอนที่ ๒ นี้จะพูดถึงปราสาทตาพรหม พุทธสถานที่มั่งคั่งที่สุด และปราสาทนาคพันกลางสระอโนดาตเคล็ดวิชาเพื่อให้อาณาจักรดำรงอยู่จนสิ้นกัลปาวสาน
ปราสาทตาพรหม ภาพจาก หน่อโพธิ์ แทรเวล |
๒) ปราสาทตาพรหม วัดพุทธศาสนาที่ร่ำรวยที่สุดในอาณาจักร
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างปราสาทตาพรหมถวายพระมารดา เมื่อ พ.ศ. ๑๗๒๙ (ก่อนการสร้างปราสาทพระขรรค์ถวายพระบิดา) พร้อมทั้งทรงสร้างรูปเคารพนางปรัชญาปารมิตาเป็นเทวรูปแทนองค์พระมารดา ประดิษฐานไว้ภายในด้วย
พระมารดาของพระองค์ มีพระนามว่า เจ้าหญิงชัยราชจุฑามณี ว่ากันว่าเป็นราชธิดาของราชวงศ์เก่าแก่ที่เคยปกครองอาณาจักรเขมร จึงนับว่ามีศักดิ์สูงกว่าพระบิดา และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจ้าชายวรมันมีความชอบธรรมในการขึ้นครองบัลลังก์ (เขมรให้ความสำคัญกับสิทธิในการสืบตระกูลจากฝ่ายบรรพสตรี)
ปราสาทตาพรหมเป็นวัดในพุทธศาสนา พบซากของกุฏิพระสงฆ์ก่อด้วยศิลา จารึกระบุว่าเคยมีพระสงฆ์อยู่ถึง ๒,๗๔๐ รูป สามเณร ๒,๒๓๒ รูป และข้าพระ ๑๒,๖๔๐ คน (ข้าพระคือ ทาสที่กษัตริย์หรือคฤหบดีถวายให้แก่วัด เพื่อทำงานถวายวัดทั้งด้านการรับใช้พระ ดูแลวัด และการเกษตรเก็บเกี่ยวดอกผลมอบให้แก่วัด) วัดแห่งนี้ได้สิทธิรับผลประโยชน์จากหมู่บ้านถึง ๓,๑๔๐ แห่ง จึงนับได้ว่าเป็นมหาวิหารที่ใหญ่และร่ำรวยมากทีเดียว
พอถึงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ (พ.ศ. ๑๗๘๖ - ๑๘๓๘) ประติมากรรม พระพุทธรูป และภาพสลักต่างๆ ในวัดแห่งนี้ถูกทำลายลงมาก และมีไม่น้อยที่สลักภาพของฤษีหรือเทพฮินดูทับแทนลงไป
หลักฐานที่ปราสาทตาพรหม แสดงให้เห็นภาพพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์ถูกลบและแทนที่ด้วยภาพฤษี ภาพจาก หน่อโพฺธิ์ แทรเวล |
๓) ปราสาทนาคพันและสระอโนดาต สัญลักษณ์ความอมตะของอาณาจักร
![]() |
ปราสาทนาคพัน : ภาพด้านหน้าทางทิศตะวันออก มอเห็นเศียรนาค ๒ ตน และรูปปั้นม้าพลาหะ |
ปราสาทนาคพัน อยู่ห่างจากพระนครธมไปทางเหนือราว ๑๗ กม. ที่ตั้งปราสาทเป็นเกาะ ตั้งอยู่กลางบารายขนาดใหญ่ชื่อว่า ชัยตฎากะบาราย
สระชัยตฏากะนี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นบารายใหญ่มีขนาด ๓,๕๐๐ x ๙๐๐ เมตร ส่วนที่ ๒ เป็นสระเล็กที่ล้อมรอบปราสาทอีกชั้นหนึ่ง
![]() |
ชัยตฎากะบารายขนาดใหญ่ มีสะพานไม้พาเข้าไปสู่เกาะราชัยศรี ภาพโดย R Lenius จาก flickr |
![]() |
เกาะราชัยศรี ปกคลุมด้วยต้นไม้ มีสระเชั้นในล้อมรอบปราสาทอีกชั้นหนึ่ง แม้ว่าน้ำในบารายใหญ่จะเหือดแห้งตามฤดูกาล แตน้ำในสระกลางและสระเล็ก ๔ สระที่ล้อมรอบ จะไม่แห้งไปด้วย (ภาพ : pinterest.com) |
การสร้างศาสนสถานไว้กลางบาราย ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมนิยมของกษัตริย์ขอม หากแต่การขุดบารายแห่งใหม่มักจะทำขึ้นเมื่อบารายเดิมเริ่มแห้งขอด อาทิ
- พระเจ้าอินทรวรมัน (พ.ศ.๑๔๒๒-๑๔๓๒) ทรงขุดสระอินทรตฎากะ พอมาถึงพระเจ้ายโศวรมัน พระโอรสที่ขึ้นครองต่อ ก็สร้างปราสาทโลเลย กลางสระอินทรตฎากะ เพื่ออุทิศถวายพระราชบิดา
- พระเจ้ายโศวรมัน (พ.ศ. ๑๔๓๒-๑๔๕๕) ทรงขุดสระยโศธรตฎากะ หรือที่รู้จักกันว่า บารายตะวันออก
- พระเจ้าราเชนทรวรมัน (พ.ศ.๑๔๘๗ - ๑๕๑๑) ทรงสร้างปราสาทแม่บุญตะวันออก ขึ้นกลางยโศธรตฎากะ
- พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๕๙๓ - ๑๖๐๙) ทรงขุดบารายตะวันตก และสร้างปราสาทแม่บุญตะวันตกขึ้นกลางสระ
พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นอกจากจะทรงสร้างบารายไว้เป็นแหล่งน้ำของอาณาจักร และสร้างศาสนสถานขึ้นกลางสระ ตามธรรมเนียมนิยมของบุรพกษัตริย์แล้ว พระองค์ยังมุ่งหมายให้ศาสนสถานแห่งนี้ปกป้องอาณาจักรให้ยืนยงไปชั่วกาล ด้วยการวางรหัสนัยที่แยบยล
![]() |
ด้านหลังทางทิศตะวันตก เห็นหางนาคสองตนพันกันอยู่ ภาพจาก renown-travel.com |
ลักษณะเกาะราชัยศรีเป็นทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑๔ เมตร ตรงกลางก่อขึ้นเป็นปราสาท มีทางเข้าทางเดียวในทิศตะวันออก ส่วนอีก ๓ ด้าน ทำเป็นประตูหลอก ใจกลางเกาะหรือห้องครรภคฤหะของปราสาท ประดิษฐานรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
เกาะหรือปราสาทมีน้ำล้อมรอบ ใช้ศิลาแลงทำเป็นเขื่อนขั้นบันไดเพื่อให้ลงอาบน้ำได้ มีศาลาเล็กๆ ๔ หลัง สร้างเว้าเข้าไปในเชื่อนแต่ละทิศ ที่ศาลามีท่อรองรับน้ำสลักเป็นรูปต่างกัน ทิศตะวันออกเป็นหน้ามนุษย์ ทิศใต้เป็นหน้าสิงห์ ทิศตะวันตกเป็นหน้าม้า และทิศเหนือเป็นหน้าช้าง
![]() |
ผังของเกาะกลางสระชั้นใน และตำแหน่งรูปสลักประดับในทิศต่างๆ |
![]() |
สระชั้นในล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง กว้างด้านละ ๓๕๐ เมตร มีศาลาเล็กตั้งอยู่ทั้ง ๔ ด้าน ภาพ orientalarchitecture.com |
![]() |
ลักษณะของศาลาในทิศทั้งสี่ ภาพ www.orientalarchitecture.com |
ความหมายแห่งสัญลักษณ์
ปราสาทนาคพันหรือเกาะราชัยศรี มีความสำคัญยิ่ง ในฐานะสัญลักษณ์แห่งความอมตะของเมืองพระนคร กล่าวคือ สระชัยตฎากะ เปรียบได้กับสระอนวตัปตาหรือสระอโนดาต สระศักดิ์สิทธิ์ในป่าหิมพานต์ตามตำนานของทั้งพุทธและฮินดู น้ำในสระอโนดาตจะใสบริสุทธิ์อยู่เสมอ เพราะแสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง มีเพียงความสว่างจากแสงสะท้อนเท่านั้น เช่นเดียวกันที่น้ำในสระชัยตฏากะ ที่ได้รับแสงสะท้อนของปราสาททองที่ตั้งอยู่กลางเกาะ
ไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า สระอโนดาตจะเป็นแหล่งน้ำสุดท้ายที่จะแห้งขอดเมื่อถึงคราวสิ้นกัลป์ ดังนั้น การมีสระอโนดาตไว้ในอาณาจักรก็เสมือนเป็นเครื่องประกันให้อาณาจักรมีอายุยืนยาวเท่ากับโลกนี้ น้ำในสระแห่งนี้จึงเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ด้วย ปัจจุบันชาวบ้านยังมีความเชื่อและนำน้ำในสระนี้ไปรักษาโรค
ไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า สระอโนดาตจะเป็นแหล่งน้ำสุดท้ายที่จะแห้งขอดเมื่อถึงคราวสิ้นกัลป์ ดังนั้น การมีสระอโนดาตไว้ในอาณาจักรก็เสมือนเป็นเครื่องประกันให้อาณาจักรมีอายุยืนยาวเท่ากับโลกนี้ น้ำในสระแห่งนี้จึงเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำไปใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ด้วย ปัจจุบันชาวบ้านยังมีความเชื่อและนำน้ำในสระนี้ไปรักษาโรค
ภายในสระยังมีภาพสลักของเหล่าเทพทั้งพราหมณ์และพุทธ ที่ยังคงมีร่องรอยหลงเหลือให้เห็นอยู่ ได้แก่ พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ทางทิศตะวันตก รูปศิวลึงก์ทางทิศเหนือ รูปม้าพลาหะทางทิศตะวันออก (ชาดกฝ่ายมหายานกล่าวว่า ม้าวิเศษนี้คือรูปจำแลงของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แปลงมาเพื่อช่วยพวกเรือแตกที่กำลังจะถูกยักษิณีจับกิน จึงสวดอ้อนวอนต่อพระโพธิ์สัตว์ให้มาช่วย) มีศิวลึงก์และโยนีขนาดเล็กใหญ่กระจายอยู่ในสระด้วยเช่นกัน
จะเห็นว่าการสร้างเกาะราชัยศรีและสระชัยตฎากะ เต็มไปด้วยความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ละเอียดลึกซึ้ง และเป็นสถานที่ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งฝ่ายพุทธและพราหมณ์ ได้มาสถิตย์อยู่ร่วมกัน เพื่ออำนวยพรและปกปักษ์คุ้มครองอาณาจักรของพระองค์ให้ยืนยงคู่โลก แต่ไม่ว่าพระองค์จะปรารถนาเช่นนี้จริงหรือไม่ก็ตาม การเกิดขึ้น ตั้งอยู และดับสลายไป คือ สัจธรรม
ย้อนอ่านตอนแรก >> ปราสาทพระขรรค์ เคล็ดวิชาในการสร้างอาณาจักรเขมรโบราณ (๑)
![]() |
รูปปั้นม้าพลาหะภายในสระ ภาพจาก orientalarchitecture.com |
![]() |
ประตูหลอกในแต่ละด้านของปราสาท มีภาพสลักพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวร ส่วนประตูจริงทางเข้าห้องครรภคฤหะ มีอยู่เเฉพาะทางทิศตะวันออก (ภาพจาก renown-travel.com) |
หนังสือแนะนำอ่านเพิ่มเติม
ประวัติเมืองพระนครของขอม ผู้แต่ง มาดแลน จิโต แปลโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
ปราสาทหินและทับหลัง ผู้แต่ง ศาสตราจารย ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์
ประวัติศาสตร์และศิลปะแห่งอาณาจักรขอมโบราณ ผู้แต่ง สุรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น