พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ : เคล็ดวิชาสร้างอาณาจักรเขมร (๑)

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงใช้เคล็ดวิชาในการสร้างอาณาจักร

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ( พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๒) มหาราชองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรเขมร ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์แล้ว อาณาจักรเขมรก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงเรื่อยๆ บ้างก็กล่าวกันว่า เป็นเพราะเคล็ดวิชาที่พระองค์ทำไว้ ถูกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ทำลายลง หากเคล็ดวิชาเหล่านั้นมิได้ถูกทำลายไป ไม่แน่ว่าประวัติศาสตร์อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เรารู้จักกัน


พระรูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พบที่ปรางค์พรหมทัต ปราสาทหินพิมาย
พระรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พบที่ปรางค์พรหมทัต ในปราสาทหินพิมาย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย พระกรทั้งสองข้างหายไป เช่นเดียวกับรูปปั้นแบบเดียวกันที่พบในประเทศกัมพูชา ทำให้เกิดการวิคราะห์กันไปต่างๆ นาๆ ว่าพระกรอยู่ในท่าใด ล่าสุดได้พบพระกรที่หายไปแล้ว ทำให้ทราบพระอิริยาบถที่แท้จริง ติดตามได้ใน ตอนที่ ๓

ข้อเท็จจริงแรกที่เราต้องทราบกันก่อนคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ขึ้นครองราชย์จากการเป็นวีรบุรุษกู้เอกราชเขมร มิได้เป็นรัชทายาทของกษัตริย์พระองค์ก่อน ห้วงเวลาก่อนหน้านั้นอาณาจักรเขมรระส่ำระสายจากกบฏภายใน ควบคู่ไปกับการศึกกับพวกจาม ราชบัลลังก์เขมรหลังสิ้นพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ.๑๖๕๖-ราว ๑๖๙๓)  มักเกิดกบฏอยู่เนืองๆ เพราะพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ไม่มีรัชทายาท กษัตริย์ที่ขึ้นครองต่อเท่าที่พบพระนามได้แก่ พระเจ้ายโศวรมันที่ ๒ เริ่มครองราชย์เมื่อใดไม่แน่ชัด แต่สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๑๗๐๘ จากการถูกปลงพระชนม์โดยขุนนางกบฏ และขุนนางนั้นก็ขึ้นครองต่อในพระนาม พระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน (พ.ศ.๑๗๐๘ - ๑๗๒๐) ตั้งแต่สมัยของพระเจ้ายโศวรมันที่ ๒ เป็นต้นมา เขมรต้องรับศึกจามอยู่เนืองๆ มีเจ้าชายชัยวรมันแห่งมหิธรปุระ เป็นแม่ทัพคนสำคัญ แต่ในที่สุดจามก็บุกเข้าเมืองพระนครได้หลังจากที่พยายามมานาน โดยการบุกเข้ามาทางเรือแล่นมาตามฝั่งทะเลของประเทศเวียตนามในปัจจุบัน แล้วล่องเข้ามาทางลำน้ำโขงมาขึ้นยังทะเลสาบปากแม่น้ำเสียมเรียบ จามได้สังหารพระเจ้าตรีภูนาทิตยวรมัน และได้ครองเขมรอยู่อีก ๔ ปี ต่อจากนั้น

ะหว่างที่จามครองแผ่นดิน เจ้าชายชัยวรมันได้ทำการสั่งสมกำลัง (คาดว่าพระองค์คงกลับมาพำนักอยู่ที่มหิธรปุระ เพราะทรงเป็นเจ้าชายจากราชวงศ์มหิธรปุระ) จนกระทั่งพร้อมแล้วพระองค์จึงทำการขับไล่จามออกไปจากแผ่นดินเขมรสำเร็จ แล้วเสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนาม พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระองค์ทรงตามไปกวาดล้างและเข้ายึดครองจาม ทรงแบ่งจามออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งทรงให้พระโอรสไปครอง อีกส่วนหนึ่งให้ราชาจามที่สวามิภักดิ์ครอง 

สิ่งสำคัญในอันดับแรกๆ ที่ต้องเร่งทำควบคู่ไปกับการสงคราม ก็คือการฟื้นฟูเมืองพระนครที่ถูกจามทำลายจนเสียหายอย่างหนัก และพระองค์ก็ทรงตระหนักได้ว่า แม้ เมืองพระนครเดิม จะได้สร้างตามศาสตร์วิชาเพื่อให้เป็นเมืองแห่งเทพเทวาแล้วก็ตาม ยังมิอาจรอดพ้นจากจามได้ ดังนั้นพระองค์จึงได้ทำการสร้างสถานที่ต่างๆ ของเมืองพระนครขึ้นใหม่ด้วยการนำเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งของพุทธและพราหมณ์มารวมกัน ด้วยรหัสนัยที่มีความเซับซ้อนเข้มข้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นเคล็ดวิชาในการสถาปนาอาณาจักรให้มั่นคงสืบไป สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างเหล่านั้น มีอะไรบ้าง 

๑) ปราสาทพระขรรค์ แห่งเมืองชัยศรี


ปราสาทพระขรรค์ แห่งเมืองชัยศรี เคล็ดวิชาในการสร้างอาณาจักรเขมร
ปราสาทพระขรรค์ 

ตามธรรมเนียมของกษัตริย์เขมร เมื่อขึ้นครองราชย์ก็จะสร้างศาสนสถานอุทิศให้แก่พระบิดาและพระมารดา พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างปราสาทพระขรรค์ขึ้นในปี พ.ศ. ๑๗๓๔ ณ สถานที่พระองค์ทรงมีชัยชนะต่อพวกจาม อาณาเขตของปราสาทแห่งนี้มีความกว้างใหญ่ราว ๗๐๐ x ๘๐๐ เมตร จึงไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถานเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนเมืองๆ หนึ่ง เช่นเดียวกับเมืองพระนคร ทรงตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “ชัยศรี” ตามความหมายแห่งชัยชนะที่เกิดขึ้น ณ ที่นี้ ส่วนพระขรรค์ หมายถึงพระแสงดาบศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงใช้ชนะศึก

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้าง รูปพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวรประดิษฐานไว้ เพื่ออุทิศแด่พระบิดา ทรงให้พระนามรูปเคารพนี้ว่า “ศรีชัยวรรเมศวร”  โดยความหมายคือ เทพผู้คุ้มครองขัยวรรมัน และทรงสร้างเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาขนาดย่อมอยู่ภายในปราสาท เพื่อประดิษฐานอัฐิของพระชนกด้วย 

ภาพพระเจดีย์ทรงลังกาอยู่ในปราสาทขอม อาจดูแปลกตา แต่ได้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาแบบลังกาคงได้แผ่เข้ามาถึงอาณาจักรเขมรแล้ว และยังมีหลักฐานว่าพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้เสด็จไปประทับที่ลังกา อย่างไรก็ดี คำสอนของพุทธเถรวาทแบบลังกาวงศ์ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก พุทธศาสนาสายหลักในอาณาจักรเขมรยังเป็นพุทธมหายาน

นอกจากนี้ยังทรงสร้างรูปเคารพของเทพอุทิศถวายแด่กษัตริย์รัชกาลก่อนหน้าอีก ๒ พระองค์ด้วย คือ พระศรียโศวรเมศวร และพระศรีตรีภูวนาวรรเมศวร ซึ่งการสร้างเทวรูปหรือรูปพระโพธิสัตว์อุทิศให้บรรพบุรุษ เป็นวัฒนธรรมเขมรโบราณ นิยมปฏิบัติกันในราชสำนักหรือชนชั้นสูง

น่าสนใจว่า จารึกปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึง การสังเวยแด่เทพเจ้าในปราสาทนี้ว่า มี ข้าว งา ถั่ว เนยเหลว นมเปรี้ยว นมสด  น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และ น้ำมัน  พร้อมทั้งการถวายผ้าเพื่อตกแต่งรูปเคารพ มีผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ สีขาว สีแดง เป็นต้น ซึ่งเครื่องสังเวยเหล่านี้เหมือนกับเครื่องบวงสรวงเทพเจ้าของพรามหณ์-ฮินดู (ปัจจุบันก็สามารถพบได้ทั่วไปในเทวาลัยฮินดูในประเทศไทยเช่นกัน) คงเป็นเรื่องของพิธีพราหมณ์ที่ปฏิบัติอยู่ในราชสำนักเขมรมาก่อนหน้าต่อเนื่องหลายร้อยปี จนกลายเป็นธรรมเนียมของราชสำนักและความเชื่อของชนเขมรไปแล้ว แม้ว่าปราสาทพระขรรค์จะเป็นศาสนสถานทางพุทธก็ตาม อีกทั้งศาสนาพุทธมหายานโดยเฉพาะพุทธตันตระมีความเชื่อและพิธีกรรมบางส่วนคล้ายกับฮินดู


ทำไมพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงทรงนับถือพระพุทธศาสนา และทรงมีพระปณิธาณเจริญรอยตามพระเจ้าอโศกมหาราช ทั้งที่กษัตริย์เขมรทุกพระองค์ก่อนหน้าทรงนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 


ศาสนาพุทธเข้ามาสู่เขมรก่อนหน้ากำเนิดเมืองพระนครหลายร้อยปีแล้ว มีหลักฐานว่าพระเจ้ายโศวรมัน (พ.ศ. ๑๔๓๒-๑๔๕๕) ผู้สถาปนาเมืองพระนคร เคยทรงสร้างวัดทางพระพุทธศาสนาด้วย ต่อมาในสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมัน มีขุนนางชั้นสูงบางคนนับถือศาสนาพุทธ และได้รับพระบรมราชานุญาตให้สร้างศาสนสถานได้ ขุนนางนาม กวีนทราริมัถนะ จึงได้สร้างปราสาทบัตชุมขึ้นในปี พ.ศ. ๑๔๙๖ แต่เมื่อเวลาผ่านไปศาสนาพุทธก็ได้เสื่อมลง จนได้พบจารึกว่าด้วยการบูรณะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ในช่วงของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๔๕-๑๕๙๓)

 พระบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มีพระนามว่า ธรณินทรวรมันที่ ๒ เป็นเชื้อพระวงศ์สายมหิธรปุระ ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง สอดคล้องกับที่มีปรากฏในจารึกว่าปราสาทหินพิมายว่า สถานที่นี้เป็นพุทธสถาน ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของมหิธรปุระ จึงอาจวิเคราะห์ได้ว่า เชื้อพระวงศ์ในมหิธรปุระส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

>> มหิธรปุระ

ธรณินทรวรมัน พระองค์นี้ บ้างก็ว่าทรงครองราชย์ในช่วงต่อจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ บ้างก็ว่าไม่ได้ครองราชย์ ศาสตราจารย์ ฌอง บัวเซอลีเยร์ (Jean Boissellier) ให้ความเห็นไปในประการหลัง โดยมีเหตุผลว่า ธรณินทรวรมันที่ ๒ ไม่ได้มีพระนามหลังสิ้นพระชนม์อย่างพระมหากษัตริย์ แต่กลับได้รับการสถาปนาจากพระโอรสให้เป็น “ชัยวรรเมศวรโลเกศ” หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าแห่งชัยวรมัน อีกทั้งยังมีจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สรรเสริญพระมารดาว่า ทรงอยู่ในราชวงศ์ที่สูงศักดิ์ยิ่งกว่าพระบิดา ซึ่งหาก ธรณินทรวรมันที่ ๒ ทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่พระมารดาจะมีศักดิ์สูงกว่า ดังนั้น ธรณินทรวรมันที่ ๒ จึงน่าจะเป็นเพียงเจ้าชายในวงศ์มหิธรปุระ นี่เองจึงเป็นเหตุให้พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไม่ได้สืบสายการขึ้นครองราชย์ต่อจากกษัตริย์องค์ก่อน


>> ทำไมกษัตริย์จึงต้องเป็นเทวราชา
>> การจะดูว่ากษัตริย์เขมรพระองค์นั้นนับถือศาสนาใด ดูได้จากพระนามหลังสวรรคต


ปราสาทบัตชุม อยู่ห่างจากนครธมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว ๘ กม.ภาพจาก wikipedia


หนังสือแนะนำอ่านเพิ่มเติม :-

ประวัติเมืองพระนครของขอม ผู้แต่ง มาดแลน จิโต แปลโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
ปราสาทหินและทับหลัง ผู้แต่ง ศาสตราจารย ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์
ประวัติศาสตร์และศิลปะแห่งอาณาจักรขอมโบราณ ผู้แต่ง สุรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อินเดียที่หนึ่งในดวงใจ

สุริยวรรมัน : เรื่องจริงเป็นอย่างไร

เที่ยวชัยภูมิต้องไม่พลาดที่นี่

ถอดความนัยจากนิยายสู่ประวัติศาสตร์ "สุริยวรรมัน"